บรรลุเป้าหมายส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นด้านการสร้างทักษะดิจิทัลแก่คนไทยในปี 2564 กว่า 10 ล้านคน
พร้อมเฟสใหม่กับเป้าหมายอบรมแรงงานอีก 180,000 คน ในปี 2565
กรุงเทพฯ, 4 เมษายน 2565 – บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความสำเร็จในเฟสแรกของ ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเสริมสร้างทักษะเชิงดิจิทัลแก่แรงงานไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์กับพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชน หลังจากที่ได้พัฒนาความสามารถด้วยทักษะเชิงดิจิทัลให้แก่ชาวไทยจำนวน 280,000 คน ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ตอนแรกที่ 250,000 คน ตามที่ได้ประกาศไว้ในงานเปิดตัวโครงการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 สำหรับในปี พ.ศ. 2565 นี้ บริษัทยังเตรียมพร้อมที่จะสานต่อเฟสที่สองของโครงการ ด้วยการปลดล็อคศักยภาพและสร้างโอกาสในการจ้างงานให้กับแรงงานชาวไทยเพิ่มเติมอีก 180,000 ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงส่งผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากรายงานภาวะสังคมของประเทศไทย ประจำไตรมาสที่ 3 ของ พ.ศ. 2564 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่มีงานทำทั้งหมด 37.7 ล้านคน ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2563 ที่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราการว่างงานได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดที่จำนวนผู้ว่างงาน 870,000 คนในปีที่ผ่านมา[1] อย่างไรก็ตาม ประเทศยังคงเต็มไปด้วยโอกาสอีกมากมาย เนื่องด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตต่าง ๆ เช่น โลกออนไลน์ที่กำลังเติบโตในประเทศไทย ผลักดันให้มีความต้องการอาชีพนักการตลาดดิจิทัลมากขึ้น ในขณะที่บิ๊กดาต้าเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพให้กับการดำเนินงานของธุรกิจและภาครัฐ ทั้งยังช่วยการตัดสินใจในองค์การเหล่านี้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น[2] นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านทักษะระดับโลกยังเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ตลาดแรงงานมีสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น[3] ซึ่งส่งผลให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ (talent acquisition specialist) และพันธมิตรเชิงธุรกิจด้านทรัพยากรบุคคล เนื่องจากธุรกิจต่างต้องการเสริมความแข็งแกร่งด้านศักยภาพของพนักงาน และตามหาผู้ที่มีทักษะเฉพาะด้าน สำหรับในประเทศไทย อาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด 10 อันดับประจำปี พ.ศ. 2563 ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักพัฒนาระบบแบคเอนด์ วิศวกรข้อมูล วิศวกรแบบฟูลสแตก เจ้าของผลิตภัณฑ์ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล และนักพัฒนาระบบฟรอนท์เอนด์
ตั้งแต่การเปิดตัว ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือกับ 7 พันธมิตรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) และมูลนิธิกองทุนไทย ได้ร่วมเสริมสร้างทักษะให้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปเป็นจำนวนกว่า 280,000 คน ผ่านการจัดฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลของโครงการ นอกจากนี้ ความสำเร็จที่สำคัญอื่น ๆ จากโครงการยังประกอบด้วย
-
ผู้เรียนหลักสูตรการศึกษานอกระบบกว่า 100,000 คน ได้รับการฝึกอบรมของโครงการผ่านศูนย์การเรียนรู้ระดับชุมชน โดย 66 เปอร์เซ็นต์ของผู้เรียนเป็นผู้หญิง ส่งผลให้พวกเขาได้รับโอกาสในการจ้างงานมากขึ้น และเพิ่มความมั่นใจในการทำงานมากขึ้นให้กับพนักงาน
-
ผู้เรียนกว่า 80,000 คน ได้เข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น
-
ผู้เรียนกว่า 14,000 คน ได้พัฒนาตนเองและความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น
-
ผู้เรียนจำนวน 4,500 คน มีโอกาสพัฒนาและเติบโตในเส้นทางอาชีพ
-
ผู้เรียนจำนวน 4,500 คน มีรายได้เพิ่มขึ้น
-
ผู้เรียนจำนวน 1,900 คน ได้ประกอบอาชีพใหม่ และ
-
ผู้เรียนประมาณ 180,000 คน ได้เรียนรู้จากหลักสูตรออนไลน์ของโครงการ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ของพันธมิตรทั้งหมด ซึ่งให้บริการแก่ผู้เรียนภายในโครงการทั้งหมด รวมถึงบุคคลทั่วไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาตลอดหลักสูตรจะได้รับใบรับรองประกาศนียบัตรอีกด้วย ทั้งนี้ แพลตฟอร์มออนไลน์ของพันธมิตร ประกอบด้วย
-
ยูเนสโก: https://lll-olc.net/th/
-
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa): www.digitalskill.org/
-
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน): https://e-training.tpqi.go.th/
-
สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กระทรวงแรงงาน: ฝึกทักษะออนไลน์หมวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์และทักษะดิจิทัล
-