เคยมีคำถามว่า ถ้าเราในฐานะผู้นำ ลงทุนใน “คน” หรือ “พนักงาน” แต่เขาไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป กับ ถ้าเราไม่ได้ลงทุนอะไรเลยในพนักงานของเรา แล้วเขาอยู่กับเราตลอดไป ตัวเลือกไหนจะเป็น สิ่งที่น่าเสียดายมากกว่ากัน? จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมต้องเลือกพัฒนาทักษะให้กับทั้งตัวเราและคนทำงานตลอดเวลา เพราะแน่นอนว่าทักษะเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ ผ่านไปนานวันเข้าจะเข้าสู่ระยะหมดอายุ และไม่สามารถใช้งานได้อีก คีย์เวิร์ดสำคัญของเกมส์การอยู่รอดในครั้งนี้คงหนีไม่พ้น การเร่งปรับตัว เพื่อรีสกิล (Reskill) และอัพสกิล (Upskill) อย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ ยิ่งสำหรับคนทำงานในยุควันนี้ ที่ต้องเจอกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การใช้ทักษะเพื่อแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ รวมถึงสร้างผลลัพธ์ในบริบทงานที่เปลี่ยนไปทำให้ไม่สามารถใช้ชุดทักษะในสายงานที่มีอยู่เดิมเพียงอย่างเดียว ขับเคลื่อนผลลัพธ์ใหม่ด้วยความรวดเร็วได้ แต่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะแวดล้อมให้มีความคล่องตัว และสามารถส่งมอบผลลัพธ์ (Job Outcomes) ด้วยการเติมทักษะรอบด้าน ที่จำเป็นในการทำงานรูปแบบใหม่ของแต่ละกลุ่มงาน (Job-based skills) กล่าวคือคนทำงานต้องมีความรู้และทักษะที่นอกเหนือจากสายงานของตัวเอง เรียกได้ว่า ยิ่งมี ”ทักษะรอบด้าน” มากเท่าไหร่ ยิ่งได้เปรียบ มากเท่านั้น โดยตระหนักรู้เสมอว่า การพัฒนาตัวเองและเพิ่มทักษะเป็นเรื่องที่ “ต้องทำ” และต้องทำให้เร็วที่สุด หากไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
นิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล Director of Product Marketing, YourNextU by SEAC (เอสอีเอซี) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “ปัจจุบัน การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว “คน” รวมไปถึงธุรกิจในหลากหลายภาคส่วน ล้วนถูกผลกระทบในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจถดถอย ภาวะตกงาน จนทำให้เกิดอัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความท้าทายใหม่ของคนทำงานในทุกๆ ระดับที่มาพร้อมกับความคาดหวังที่เปลี่ยนไป คนเก่งในองค์กร อาจจะกลายเป็นแค่คน(เคย)เก่ง เมื่อไม่สามารถทำวิธีเดิมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดิม บนบริบทธุรกิจที่เปลี่ยนไป องค์กรต่างๆ กำลังต้องการสร้าง Multi-Skills Talent Pool ที่ช่วยให้องค์กรยืดหยุ่น คล่องตัวมากขึ้น และทลาย Silo ให้คนในองค์กรที่แตกต่างกันสามารถต่อยอดและทำงานร่วมกันได้ดีมากขึ้น นิยามความเก่ง เปลี่ยนไป จนหลายๆ คนเกิดการตั้งคำถามที่ว่า ถ้าอยากเป็นคนเก่งยุคนี้ต้องเริ่มจากอะไร?
“SEAC ในฐานะผู้นำด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต สิ่งหนึ่งที่เน้นย้ำเสมอ คือ เราต้องการกระตุ้นให้คนไทยเกิดการรีสกิล (Reskill) และอัพสกิล (Upskill) อย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาศักยภาพผู้นำ บุคลากรและกลุ่มคนทำงานทุกระดับ ทั้งเรื่องของ Mindset, Hard Skills และ Soft Skills โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อสร้างคนที่รู้กว้าง (Multi-Skills Profile) ในแบบ T-Shaped และ M-Shaped Skills เพื่อพัฒนาทักษะทั้งแนวลึกและแนวกว้างที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ผนวกกับ Learning Mindset ซึ่งทำให้คนที่รู้กว้าง (Multi-Skills Profile) มีความได้เปรียบ และเป็นที่ต้องการขององค์กรยุคนี้ เพราะนอกจากมีทักษะการเรียนรู้ที่ “รู้รอบ รู้ลึก” แล้ว ยังผนวกองค์ความรู้ต่างๆ และเปิดรับสิ่งใหม่ ทำให้สามารถหมุนตัวเองและทำงานที่หลากหลายอย่างคล่องตัวและเชี่ยวชาญ”
3 ทักษะคนทำงานทุกระดับต้องเร่งพัฒนา ปี 2021 – 2022
การหมั่นพัฒนาทักษะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ สิ่งแรกที่เราต้องมีคือ Mindset ที่พร้อมจะเปลี่ยน หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน คือ ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนเดียวกัน และเพื่อนร่วมงานของคุณ มี Growth Mindset มองวิกฤติให้เป็นโอกาส กลับกันที่คุณมี Fixed Mindset ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เพื่อนร่วมงาน ก็จะนำหน้าไปก่อนอย่างแน่นอน เช่นเดียวกันกับ องค์กรที่บริหารคนมากมาย อุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ไวคือการที่องค์กรไปให้ความสำคัญกับเครื่องมือในการช่วยเหลือมากเกินไป โดยละเลยพื้นฐานสำคัญ อย่าง Mindset จึงทำให้ไม่สามารถเกิดการ Transform อย่างแท้จริง
-
ทักษะการบริหารจัดการตัวเอง (Self-Management Skills) – เริ่มต้นที่ Mindset ว่าทำอย่างไรจะสามารถจัดการกับปัญหาหรือความเครียดที่เกิดขึ้น การมีมุมมองความคิดที่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์จะทำให้เราสามารถปรับมุมมอง (Reframe) ต่อสถานการณ์นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี พอเห็นโอกาสเกิดขึ้น เราก็จะสามารถกระตุ้นตัวเราไปให้ถึงเป้าหมาย
-
ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Interpersonal Skills) – การทำงานร่วมกับคนที่แตกต่างให้สามารถต่อยอดออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ดีได้ โดยอาศัย การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) และการรับฟัง (Listening) ในการทำงานร่วมกันระหว่างทีม ความท้าทายใหม่จะเกิดขึ้นระหว่างหัวหน้าและลูกน้องทั้งในและนอกแผนก อีกทั้ง ใครๆ ก็สามารถเป็นผู้นำได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ และตัวบุคคลเองก็สามารถมีทักษะ ภาวะผู้นำในตนเอง (Self-Leadership) หากเข้าใจถึงภาพใหญ่ว่าทำไมเราต้องเปลี่ยนการกระทำแบบเดิมๆ เพื่อมุ่งพิชิตเป้าหมายองค์กรไปด้วยกัน
-
ทักษะการรู้รอบด้านในแต่ละสายงาน (Job-based skills) – เมื่อความรู้มีวันหมดอายุ ทักษะการรู้รอบด้านในสายงานที่เกี่ยวข้อง คือสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสนใจ ทั้งระดับผู้บริหารหรือคนทำงานต้องรีสกิลหลากหลายทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกทุกวันนี้ เสริมทักษะการทำงานรอบด้าน ผสมผสานทั้ง Hard Skills และ Soft Skills สู่การนำไปสร้างผลงานให้โดดเด่นได้ทันที
You must be logged in to post a comment.