คำเตือน! บทความนี้มีเนื้อหาค่อนข้างเยอะ โปรดตรวจสอบเวลาของท่านให้ดี
ต้องขอภัยด้วยที่ผมใช้เวลาเขียนนานไปหน่อย ช่วงนี้ใกล้สอบเลยต้องค่อยๆ ทำไปทีละนิด อย่างไรก็ตามแต่ บทความประวัติซีพียูของ AMD ก็สำเร็จลุล่วงจนได้ ถ้าพร้อมแล้ว เลื่อนลงไปอ่านได้เลยครับ
1. AM9082 และ AM2900
เริ่มต้นกันที่ซีพียู 2 ตัวแรกจากทาง AMD AM2900 ถูกสร้างขึ้นเป็นซีพียูตัวแรกจากทาง AMD ซึ่งในทางเทคนิคแล้ว AM2900 ไม่เป็นได้เป็นโปรเซสเซอร์นะ แต่ว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ใช้สร้างโมดูลประมวลผลแบบ 4 บิต จนกระทั่งมีการผลิต AM 9080 ออกมา มันจึงกลายเป็นซีพียูแบบเต็มตัว โดยซีพียู AM9080 นี้ ได้ใช้โครงสร้างของ Intel 8080 ในการผลิต (ไม่ได้ลอกเลียนแบบนะครับ แต่มันเป็นการนำเทคโนโลยีของ Intel มาใช้ โดยผ่านพันธสัญญาที่ทำร่วมกัน)
2. ข้อตกลงกับ IBM
ในช่วงปี 1980 AMD ได้เข้าสู่ตลาด x86 จากข้อตกลงที่ทำไว้ระหว่าง IBM และ Intel ซึ่งในช่วงเวลานั้น IBM ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการคอมพิวเตอร์ และทางบิรษัทต้องการชิปประมวลผลมาใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ทีนี้ตอนทำสัญญาเจรจาระหว่าง IBM กับ Intel เนี่ย ถ้า Intel ได้กลายเป็นผู้ผลิตซีพียูให้กับ IBM แล้ว มันจะมีออร์เดอร์จำนวนมาก ซึ่งทาง IBM กลัวว่า Intel อาจไม่ผลิตทันความต้องการ จึงต้องให้ Intel ยอมให้สิทธิ์การนำเทคโนโลยีไปใช้ในการผลิตซีพียู แก่บริษัทร่วมสัญญาอื่นๆ นั่นคือ AMD จากข้อตกลงนี้ Intel เองก็ไม่อยากเสียสิทธิ์ในสัญญา ทำให้ AMD ได้ผลิตซีพียูที่เหมือนกับ Intel 8086 ในปี 1982
3. AM29000 ซีพียู 32 บิต บนสถาปัตยกรรมแบบ RISC
ตลอดช่วงปี 1980-1990 AMD ได้ผลิตซีพียู 32 บิต ที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบ RISC ออกมา โดยู้จักกันในซีพียูตระกูล AM29000 แต่ซีพียูกลุ่มนี้ จะเจาะตลาดกลุ่ม Embedded มากกว่าพวก High-end จนกระทั่งช่วงหลัง AMD เลิกผลิตซีพียูสถาปัตกรรม RISC นี้ แล้วหันไปโฟกัสกับซีพียู x86 แทน
4. AMD AM286
ซีพียู x86 ตัวที่ 2 จากทาง AMD ซึ่งแน่นอนว่ามันก็เป็นซีพียูที่ถอดแบบมาจาก Intel เช่นเดียวกัน (จากสัญญาที่ทำร่วมกัน) โดยได้แบบมาจาก Intel 80286 แต่ดีกว่าตรงที่ มันมีสัญญาณนาฬิกาสูงกว่า โดย Intel 80286 จะมีความเร็วสัญญาณนาฬิกาที่ 12.5 MHz แต่ทาง AMD AM286 มีความเร็วถึง 20 MHz
5. AMD AM386 เริ่มมีปากเสียงกับ Intel
ในปี 1985 Intel ได้ออกซีพียู x86 32 บิตเป็นตัว 80386 ซึ่งทาง AMD ก็เตรียมที่จะออก AM386 ตามมาด้วย แต่อยู่ๆ Intel ได้ฟ้องศาลเรื่องที่ว่า ทางบริษัทให้สัญญา AMD ในการนำเทคโนโลยีไปผลิตซีพียูได้แค่รุ่น 80286 หรือเก่ากว่าเท่านั้น แต่ AMD แย้งว่า ในสัญญาบอกว่า AMD ได้สิทธิ์ในการนำเทคโนโลยีใน ซีพียู 80386 และรุ่นอื่นๆ ในตระกูล x86 ไปผลิตได้ ซึ่งศาลได้ตัดสินให้ AMD ชนะ และออกซีพียู AM386 ได้ โดยตัว AM386 (40 MHz) มีความเร็วกว่า Intel 80386 (33 MHz)
6. AM486 และ AMD5x86 โคลนตัวสุดท้าย
ซีพียูทั้ง 2 ตัวนี้ เป็นซีพียูตัวสุดท้ายของ AMD ที่จะใช้เทคโนโลยีจาก Intel โดย AM486 ได้ถูกสร้างขึ้นในปี 1994 ถอดแบบมาจาก Intel 80486 ซึ่ง AMD ก็ได้ใช้วิธีการที่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจของตัวสินค้า โดยการเพิ่มความเร็วสัญญาณนาฬิกาเป็น 120 MHz (ของเดิม Intel 80486 เร็วเพียง 100 MHz) และในปี 1995 AMD ได้ออกซีพียู AMD 5×86 ซึ่งใช้สถาปัตยกรรมเดียวกับตัว AM486 และ Intel 80486 แต่มีการเพิ่มสัญญาณนาฬิกาให้เร็วขึ้นอีกเป็น 113 MHz สำหรับรุ่นขายปลีก และ 150 MHz สำหรับรุ่น OEM และหลังจากนั้นไม่นานที่ Intel ได้มีเปิดตัว Intel Pentium ตัวแรก ถึงกับมีการจัดทำ Pentium Rating (PR) ขึ้นมา เพื่อเปรียบเทียบซีพียูจากค่ายอื่นกับตัว Pentium เช่น AMD 5×86 มี PR 75 หมายความว่า AMD 5×86 มีประสิทธิภาพเท่ากับ Pentium ที่ทำงานในสัญญาณนาฬิกา 75 MHz เป็นต้น
7. K5 ซีพียู x86 ตัวแรกของ AMD
ในปี 1996 AMD ได้ออกซีพียู x86 ตัวแรกที่ผลิตขึ้นเอง โดยใช้ชื่อว่า K5 ซึ่งเจ้าตัวได้รวมเอานวัตกรรมจากซีพียูสถาปัตยกรรมแบบ RISC อย่าง AM29000 เข้าไปด้วย (แต่ตอนนั้น AMD เลิกพัฒนาซีพียูแบบ RISC แล้วนะ) นอกจากนี้ AMD ยังได้ใช้ Execution แบบ Out-of-order ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับซีพียูได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความซับซ้อนของชิปประมวลผล ทำให้ AMD ไม่สามารถดันสัญญาณนาฬิกาของ K5 ขึ้นได้ และในแง่ของประสิทธิภาพนั้น ก็ดูจะสู้ Intel Pentium ไม่ได้ ถึงกระนั้น AMD ได้โฆษณาว่า K5 ที่มีสัญญาณนาฬิกา 100 MHz มี PR 133 ซึ่งหมายความว่า AMD เชื่อว่าประสิทธิภาพของ K5 ที่มีสัญญาณนาฬิกา 100 MHz แรงเท่ากับ Pentium ที่มีสัญญาณนาฬิกา 133 MHz
8. K6 ซีพียู NexGen
แทนที่ AMD จะพัฒนาซีพียูสถาปัตยกรรม K5 ต่อ บริษัทได้เข้าซื้อบริษัท NexGen ซึ่งเป็นผู้ผลิตซีพียูรายหนึ่ง และได้นำมาปรับใช้กับซีพียู K6 ตัวใหม่ที่มีแผนจะออกขาย แม้ว่าโครงสร้างหลายๆ ส่วนของ K6 จะแตกต่างไป K5 แต่การดำเนินคำสั่งของมัน จะคล้ายกับที่มีในซีพียูสถาปัตยกรรมแบบ RISC เช่นเดียวกับตัว K5 ซึ่ง K6 ได้เปิดตัวในปี 1997 และมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Intel Pentium II ใขณะที่มีราคาถูกกว่า อีกทั้งชิปซีพียูยังประกอบด้วยุดคำสั่ง SIMD ด้วย แต่สิ่งที่ทำให้ Pentium II เหนือกว่า K6 คือ FPU (Floating-point unit) ใน Pentium II นั้น มีประสิทธิภาพสูงกว่า K6
9. AMD K6-II
ซีพียูตัวนี้ เป็นฉบับปรุุบปรุงของตัว K6 ดั้งเดิม โดยมีการเพิ่มความเร็วสัญญาณนาฬิกา/ Front side bus เป็น 100 MHz รวมถึงมีการใช้ชุดคำสั่ง SIMD แบบใหม่ที่ทาง AMD ให้ชื่อว่า 3DNow! เพื่อแข่งขันกับ Intel MMX
10. AMD K6-III เพิ่มแคช L2
ในปี 1999 AMD ได้ออกซีพียู K6 รุ่นที่ 3 นั่นคือเจ้า K6-III ซึ่งมีความแตกต่างจากตัว K6-II ตรงที่มีแคช L2 ขนาด 256 KB เข้าไปในชิปด้วย ซึ่งช่วยให้ซีพียูสามารถประมวลผลได้รวดเร็ว และมีแบนด์วิดธ์กว้างขึ้น ทว่า K6-III มีราคาค่อนข้างสูง AMD จึงพลิกแผนรีบออก AMD Athlon มาแทนที่อย่างรวดเร็ว
11. AMD K6-II+ และ K6-III+
ชิปตัวสุดท้าย ที่ใช้สถาปัตยกรรม K6 โดย AMD K6-II+ และ K6-III+ ถูกทำขึ้นเพื่อเจาะกลุ่มการใช้งานในอุปกรณ์พกพา ซึ่งโครงสร้างภายในจะคล้ายกับตัว K6-III โดยรุ่น K6-II+ จะมีแคช L2 128 KB และ K6-III+ มี 256 KB ด้วยกระบวนการผลิตขนาด 180 นาโนเมตร ทำให้การจัดการพลังงานของซีพียูทำได้ดีขึ้น
12. K7 และ K75 กำเนิด Athlon
ในปี 1999 AMD ได้เปิดตัวซีพียู Generation ใหม่ โดยใช้ชื่อว่า Athlon ซึ่งซีพียูตระกูลนี้ ได้มีการเพิ่มจำนวนคำนวนคำสั่งที่ทำเสร็จใหนึ่งรอบสัญญาณนาฬิกา (Instructions per cycle – IPC) ให้มากขึ้น ทำให้ AMD สามารถดันความเร็วสัญญาณนาฬิกาไปได้ถึง 1 GHz รวมถึงมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของ FPU ให้ดีขึ้นเพื่อแข่งขันกับ Intel ส่งผลให้ Athlon ทำงานดีกว่า Pentium มาก รวมถึงแคช L2 ที่มีขนาดเพิ่มขึ้น และด้วยใบอนุญาตจาก Digital Equipment Corporation (DEC) ที่ให้สิทธิ์ในการใช้เทคโนโลยี EV6 FSB AMD จึงสามารถผลิตชิปเซตเพื่อใช้งานร่วมกับซีพียูตัวใหม่นี้ได้ อีกทั้งยังรองรับการทำงานร่วมกับแรม DDR ที่มีแบนด์วิดธ์กว้างกว่า และมีประสิทธิภาพดีกว่า SDRAM แบบเดิมๆ
13. K7 Athlon Thunderbird
ไม่นานหลังจากที่ Athlon และ Pentium ได้ออกสู่ตลาด อุตสาหกรรมการผลิตชิปประมวลผลตระหนักว่า แคช L2 นั้น มีการทำงานที่ค่อนข้างเชื่องช้า และขัดขวางการทำงานของตัวซีพียู (เกิดคอขวด) AMD จึงได้ย้อนกลับไปใช้โครงสร้างแบบดั้งเดิม แล้วออกตัว Athlon Thunderbird ซึ่งมีแคช L2 ที่รวมอยู่บน Die ของซีพียูเลย แม้ว่าขนาดของแคช L2 จะลดลงครึ่งหนึ่ง แต่มันก็ทำความเร็วได้ใกล้เคียงกับซีพียู และนั่นทำให้ AMD เพิ่มความเร็วของสัญญาณนาฬิกาให้กับตัวซีพียูได้อีก 400 MHz
14. K7 AMD Duron
เพื่อเจาะกลุ่มผู้ใช้งานในระดับเริ่มต้น หรือกลุ่ม Entry AMD จึงได้เปิดตัวซีพียูในตระกูล Duron ซึ่งมีสถาปัตยกรรมคล้ายกับ Athlon แต่มีสัญญาณนาฬิกาที่ต่ำกว่า ทำให้มันประหยัดพลังงานมากกว่า โดยที่แคช L2 ยังมีอยู่ และมีขนาด 64 KB จึงกลายมาเป็นคู่แข่งกับ Intel Celeron
15. Athlon Palomino/XP
ในปี 2001 AMD ได้ทำการปรับปรุง Athlon อีกครั้ง และเปิดตัว AMD Athlon Palomino/XP โดยปรับเพิ่มสัญญาณนาฬิกาขึ้นจากตัว Thunderbird อีก 333 MHz พร้อมทั้งรองรับชุดคำสั่ง SSE SIMD ในขณะเดียวกับที่ Microsoft ได้เปิดตัว Windows XP ซึ่งเป็นการช่วยโฆษณาว่า Athlon XP เนี่ย มันรองรับระบบปฏิบัติการใหม่เลยนะ นอกจากนี้ยังมีการออกซีพียูรุ่นที่แยกออกมาสำหรับเครื่องเซิร์ฟเวอร์คือ Athlon MP และสำหรับอุปกรณ์พกพาคือ Athlon 4 หรือ Athlon XP Mobile
16. Athlon Thoroughbred และ Barton
ในปี 2002 AMD ได้เปิดตัวซีพียู Athlon Thoroughbred ซึ่งผลิตขึ้นในสถาปัตยกรรมขนาด 130 นาโนเมตร ช่วยให้สามารถดันสัญญาณนาฬิกาขึ้นไปถึง 2 GHz และกินไฟน้อยลง หลังจากนั้น 1 ปี จึงได้ออก AMD Barton ซึ่งเพิ่มสัญญาณนาฬิกาขึ้นมาอีกนิด แต่มีขนาดของแคช L2 เพิ่มขึ้น 2 เท่า และรองรับ FBS 200 MHz และ แรมที่ความเร็ว 400 MHz
17. Athlon Thorton และ Duron
AMD เปิดตัวซีพียูอีก 2 รุ่น คือ AMD Athlon Thorton และ Duron ซึ่งอยู่ในกลุ่มราคาประหยัด โดยทั้ง 2 รุ่นถอดแบบมาจากรุ่นพี่ Barton โดย Thorton มีแคช L2 256 KB แต่ซีพียูมีสัญญาณนาฬิกาต่ำกว่า Barton อย่างไรก็ตาม ด้วยกระบวนการผลิต 130 นาโนเมตร ทำให้มันประหยัดพลังงานมากกว่าเดิม ส่วนชิป Duron ตัวใหม่นี้ มีแคช L2 64 KB เหมือน Duron ตัวเดิม แต่มีสัญญาณนาฬิกาเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 GHz
18. AMD Geode บรรพบุรุษของ APU
AMD ได้เข้าซื้อชิปประมวลผล Geode จาก National Semiconductor เพื่อขยายการจำหน่ายสินค้าในกลุ่มราคาประหยัด ซึ่งชิป Geode นี้ ได้พัฒนาขึ้นจากชิป MediaGX ของ Cyrix (ซึ่งตอนหลัง National Semiconductor นำ MediaGX มาพัฒนา Geode แล้ว AMD จึงเข้าซื้อ Geode จาก National Semiconductor อีกที) เจ้าชิป MediaGX นี่แหละคือไฮไลท์ เพราะมันรวมเอาชิปเสียง, ชิปเร่งการประมวลผลภาพ และฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่เคยอยู่บนเมนบอร์ดเข้าด้วย จนกระทั่ง AMD ได้ปล่อยซีพียูออกมา 2 รุ่นภายใต้โค้ดเนม Geode รุ่นหนึ่งคือ Geode GX ที่เจาะกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาประหยัด (มากๆ) ซึ่งส่วนประกอบภายในจะเหมือนกับที่ National Semiconductor ทำออกมา ส่วนอีกตัวหนึ่งคือ Geode LX ซึ่ง AMD ปรับแต่งเพิ่มเติม ภายใต้สถาปัตยกรรม K7 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลให้ดีขึ้น
19. Sempron ตัวแรก
AMD ออกซีพียูตระกูล Sempron ตัวแรกในปี 2004 ซึ่งเป็นซีพียูที่อยู่คั่นกลางระหว่าง Athlon Barton ที่เป็นกลุ่ม High-end และ Duron ที่เป็นกลุ่มราคาประหยัด ช่วงแรก Sempron จะมีโครงสร้างภายในคล้าย Athlon Thorton โดยมีสัญญาณนาฬิกาต่ำกว่าเล็กน้อย แต่ในเวอร์ชันใหม่นั้น ได้ปรับไปใช้โครงสร้างแบบ Barton ที่มีคช L2 512 KB และสัญญาณนาฬิกาสูงสุดที่ 2.2 GHz
20. K8 Athlon 64!
AMD ต้องการให้ซีพียูรองรับการทำงานร่วมกับแรมที่มีขนาดมากกว่า 4 GB เนื่องจากว่าในระยะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์เริ่มมีการใส่แรม 8 GB กันบ้างแล้ว จึงต้องมีการเพิ่มความสามารถให้ซีพียูมองเห็นแรมมากกว่า 4 GB อีกทั้งยังเป็นการปรับปรุงเอาหน่วยควบคุมแรมที่อยู่ในชิปเซต ไปใส่ไว้ในซีพียูด้วย เพื่อให้การติดต่อระหว่างซีพียูกับแรมเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว AMD จึงได้นำ Front Side bus ออกจากระบบ แล้วเปิดตัวเทคโนโลยี HyperTransport ที่มีแบนด์วิดธ์สูงกว่านั่นเอง และนี่จึงเป็นที่มีของซีพียูสถาปัตยกรรม K8 โดยใช้ชื่อว่า Athlon 64 (Clawhammer และ Newcastle) สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป และ Athlon 64 FX (Sledgehammer และ Clawhammer) สำหรับผู้ใช้งานที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น และ Opteron สำหรับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ (Sledgehammer) อันนี้แหละ ผมจำได้ว่าหนังสือ Computer Today ที่บ้าน มีเล่มหนึ่งที่มีข่าวการเปิดตัวซีพียูรุ่นนี้ เวลาช่างผ่านไปไวจริงๆ 😛
21. K8 ปรับปรุงเพิ่มอีกนิด
ในปี 2004 AMD ได้นำการผลิตขนาด 90 นาโนเมตร มาใช้กับ Athlon 64 ตัวใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดการใช้พลังงาน ซึ่ง AMD ได้ปล่อย Athlon 64 ทั้งหมด 4 รุ่นออกสู่ตลาด Desktop โดยซีพียูโค้ดเนม Venice เป็น Athlon 64 ตัวสุดท้ายที่ใช้งานบนซ็อกเกต 754 และมีประสิทธิภาพสูง ส่วนรุ่นโค้ดเนม San Diego จะมีสัญญาณนาฬิกาเทากัน แต่ใช้งานกับซ็อกเกต 939 และมีแคช L2 1 MB นอกจากนี้ AMD ยังออกซีพียูโค้ดเนม Winchester ซึ่งประหยัดพลังงานยิ่งกว่าเดิม จนกลายเป็นแบบแผนให้กับซีพียู Athlon 64 ตัวต่อไป ที่มีการออกแบบให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ
22. K8 Sempron
เมื่อมี Athlon K8 ก็ต้องมี Sempron มาด้วย AMD ได้ปล่อยซีพียูตระกูล Sempron ตัวใหม่ลงสู่ตลาด ซึ่งใช้สถาปัตยกรรม K8 โดยที่ตัวซีพียูจะมีแคชและสัญญาณนาฬิกาต่ำกว่ารุ่นพี่ Athlon
23. Athlon 64 X2
หลังจากนั้นไม่นาน AMD ก็ได้เปิดตัวซีพียู Dual-Core บนสถาปัตยกรรม K8 ขึ้น แม้ว่าทั้ง 2 Cores จะไม่สามารถทำงานพร้อมกันได้อย่างเต็มที่ แต่มันก็ช่วยในการประมวลผลให้เร็วยิ่งขึ้นได้ โดยซีพียู Atlon 64 X2 ที่ออกมามีทั้งหมด 6 รุ่น สำหรับ 5 รุ่นแรกจะมีโครงสร้างคล้ายๆ กัน แต่ต่างกันแค่ขนาดของแคช L2 และความเร็วของสัญญาณนาฬิกา ส่วนตัวที่ 6 นั้น เป็นตัวที่เร็วและแรงที่สุด อีกทั้งยังมีการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ด้วยกระบวนการผลิต 65 นาโนเมตร
24. K8 Turion และ Turion X2
ซีพียูตระกูล Turion ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในอุปกรณ์แบบพกพา แต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับซีพียูของเครื่อง Desktop ซึ่งทาง AMD ได้ผลิตให้มันประหยัดพลังงานมากขึ้น จึงไม่พบปัญหาเรื่องกินไฟ นอกจากนี้ ยังออกรุ่นที่เป็น Dual Core มาด้วย นั่นคือ Turion X2
25. K10 Phenom ซีพียู Quad-Core
สถาปัตยกรรม K10 มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับ K8 แต่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบควบคุมและชุดคำสั่งภายใน ให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเหมาะกับการนำมาใช้บนชิปที่มีหัวประมวลผล 4 แกน สำหรับการใช้งานแบบฮาร์ดคอร์ อย่างไรก็ตาม ซีพียู K10 รุ่นแรก (Barcelona) กลับเกิดปัญหา มักเกิดอาการค้างและหยุดทำงานไป ซึ่งเรียกว่า TLB bug โดยทาง AMD ได้ออกซอฟต์แวร์มาแก้ไข (ซึ่งได้ผลบ้างไม่ได้บ้าง) แถมยังทำให้ซีพียูกินไฟมากขึ้นอีก ซึ่งต่อมา AMD ได้นำเอาซีพียู Barcelona นี้กลับไปแก้ไข แล้วออกเป็นตัว Agena มาแทน ซึ่งได้แก้ไข TLB bug เรียบร้อย รวมถึงออกรุ่นอื่นๆ ในกลุ่มราคาต่างๆ โดยมีการปิดการทำงานของ Core บางตัวบนซีพียูไว้ ได้แก่ Toliman (ปิดเหลือ 3 Cores) และ Kuma (ปิดเหลือ 2 Cores)
26. K10 Phenom II
AMD ออก Phenom II เพื่อเข้าแทน Phenom รุ่นแรกอย่างรวดเร็ว โดยเปลี่ยนไปใช้กระบวนการผลิตชิปขนาด 45 นาโนเมตร ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานและความร้อนบนตัวซีพียู และช่วยให้สามารถเพิ่มความเร็วของสัญญาณนาฬิกาให้สูงขึ้นได้ Phenom II “Deneb” มีจำนวนหัวประมวลผล 4 แกน ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 3.7 GHz และด้วยขนาด Die ที่เล็กลงกว่าเดิม ทำให้ AMD สามารถเพิ่มขนาดของแคช L3 ได้ถึง 3 เท่า อีกทั้งยังรองรับการทำงานร่วมกับแรม DDR3 โดยที่ยังคงความเข้ากันได้กับแรม DDR2
27. Phenom II X2 และ X3
เจ้าซีพียู 2 รุ่นนี้ ก็ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้งาน โดยมีงานนำ Phenom Deneb มาปิดหัวประมวลผล เหลือ 3 Cores สำหรับ Phenom II X3 และ 2 Cores สำหรับ Phenom II X2 พร้อมด้วยแคช L3 6MB ทั้ง 2 รุ่น แต่วิ่งด้วยความเร็วที่ลดลงอย่างไรก็ตามซีพียู 2 รุ่นนี้ ได้รับความนิยมในหมู่ Overclocker และกลุ่ม Enthusiast เนื่องจากมันสามารถปรับแต่งให้เปิดหัวประมวลผล ที่ถูกปิดไว้ได้ด้วย
28. Athlon II
เมื่อ Phenom เป็นซีพียูกลุ่ม High-end ทำให้ Athlon ตกลงมาเป็นซีพียูกลุ่มราคาประหยัด โดยมีการตัดแคช L3 ออกไป ตัว Quad-Core มีโค้ดเนมว่า Propus, ตัว Triple-Core มีโค้ดเนมว่า Rana และตัว Dual-Core มีโค้ดเนมว่า Regor ซึ่งตัว Dual-Core นี้ ถูกผลิตให้มี 2 Cores ไปเลย ส่วนตัว Triple-Core จะเป็นการปิดหัวประมวลผลครับ อย่างไรก็ตาม การที่นำแคช L3 ออกไป ทั้งที่ยังมีการใช้หัวประมวลผลเหมือนกับตัว Deneb ทำให้ประสิทธิภาพมันไม่ค่อยดีเท่าไร แต่อย่างน้อยก็ทดแทนด้วยสัญญาณนาฬิกาที่สูงถึง 3 GHz ทั้งนี้ การตัดแคช L3 ออก ช่วยให้ซีพียูประหยัดพลังงานมากขึ้น
29. K10 Sempron
เมื่อมี Athlon ก็ต้องมี Sempron ซึ่ง AMD ผลิตออกมาสำหรับกลุ่มราคาประหยัดมากๆ เป็นซีพียูแบบ Single-Core โดยใช้โครงสร้างเหมือนกับตัว Regor (น่าจะเป็นการปิดหัวประมวลผลเช่นเดียวกัน)
30. Phenom II X6
AMD นำเทคโนโลยี Turbo Core มาใช้งานร่วมกับ ซีพียู Phenom II X6 “Thuban” ซึ่งมีสัญญาณนาฬิกาเริ่มต้นที่ 3.3 GHz และบูสต์ได้สูงถึง 3.7 GHz ทำให้ประสิทธิภาพมันสูงกว่าตัว Deneb มาก ส่วนอีกรุ่นหนึ่งคือ Zosma เป็นซีพียู Quad-Core ที่รองรับ Turbo Core มันจึงทำงานได้เร็วกว่า Deneb และด้วยกระบวนการผลิตขนาด 45 นาโนเมตร ทำให้ Thuban และ Zosma ประหยัดพลังงานมากขึ้น
31. Fusion/Llano
โปรเจค Fusion ของ AMD ได้สำเร็จลุล่วงในเดือนกรกฎาคม 2011 และได้ทำการเปิดตัว APU โค้ดเนม Llano โดยซีพียูรุ่นนี้ เป็นการนำเอา Stream Processors ของ AMD Radeon สถาปัตยกรรม TeraScale 2 เข้าไปใส่ซีพียู K10 ซึ่งคล้ายกับตัว AMD Geode แต่ Geode นั้น จะเน้นกลุ่มราคาประหยัด แต่ Llano กลับมีจุดมุ่งหมายเพื่อเจาะกลุ่มที่ต้องการซีพียูที่มีประสิทธิภาพสูง แต่มันก็ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่ม High-end จริงๆ หรอกนะ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันไม่มีแคช L3 แถว iGPU ที่ใส่มาด้วยมันมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าไร จะเล่นได้ก็แต่เกมธรรมดา ที่มีกราฟิกไม่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม APU Llano ก็ถือว่ามีความสมเหตุสมผลในเรื่องของราคาอยู่ในขณะนั้น
32. AMD Bobcat
เพื่อแข่งขันกับ Intel Atom และซีพียู ARM ทำให้ AMD ได้เปิดตัวซีพียูสถาปัตยกรรม Bobcat ในปี 2011 ด้วยความที่มันถูกออกแบบมาเพื่อการประหยัดพลังงาน ซีพีจึงมีสัญญาณนาฬิกาค่อนข้างต่ำ ตัวที่วิ่งเร็วสุดจะอยู่ที่ราวๆ 1.75 GHz ทั้งนี้ Bobcat ยังมี iGPU ที่มี Stream Processors 80 Unit ด้วยนะ
33. AMD Bulldozer Zambezi
ในเดือนตุลาคม ปี 2011 AMD ได้ปล่อยซีพียูสถาปัตยกรรม K10 ในโค้ดเนม Bulldozer โดย AMD พยายามดันความเร็วของสัญญาณนาฬิกา และเพิ่มจำนวนหัวประมวลผลให้มากขึ้น เพื่อแข่งขันกับ Intel Sandy Bridge อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของมันแทบไม่แตกต่างไปจาก Phenom II X6 ด้วยเหตุที่โครงสร้างแบบ Multi-Core Module (MCM) ใน Bulldozer มี Integer Core 2 แกน และ FPU 1 Unit ทำให้ Integer Core ที่มันมีอยู่ 2 แกน ต้องแชร์กันใช้ FPU ที่มีอยู่แค่ 1 Unit มันเลยเกิดปัญหาการทำงานล่าช้า แถมซีพียูยังร้อนและกินไฟ Bulldozer จึงแพ้ Sandy Bridge ไปในที่สุด
34. AMD Piledriver Trinity และ Richland
หลังจกาที่ Bulldozer ออกสู่ตลาดได้ไม่นาน AMD ได้นำโครงสร้างมาปรับแต่งใหม่ แล้วออกตัว Piledriver เข้าสู่ตลาดแทน ซึ่ง Piledriver นั้น จะเป็น APU Trinity ที่เพิ่มความเร็วสัญญาณนาฬิกาอีก 10% ส่งผลให้ประสิทธิภาพของีพียูเพิ่มขึ้นถึง 15% โดยที่ไม่กินไฟเพิ่ม ในส่วนของ iGPU นั้น Trinity ใช้สถาปัตยกรรม TeraScale 3 ซึ่งถอดแบบมาจาก AMD Radeon HD 6900 นั่นทำให้ประสิทธิภาพในการประมวลผลภาพ มันดีกว่า Llano เป็นอย่างมาก ส่วน Richland เป็นส่วนที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมของ Piledriver โดยมันมีสัญญาณนาฬิกามากกว่า Trinity และกินไฟน้อยกว่า ร้อนน้อยกว่า โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบ Trinity และ Richland ในซีพียูที่ใช้กับอุปกรณ์พกพา พบว่า Richland นั้น ทำงานได้ดีขึ้นกว่ามาก
35. AMD Piledriver Vishera
AMD ได้นำ Piledriver มาประยุกต์ใช้กับซีพียูตระกูล FX และส่งเจ้า Vishera ออกมาแทนที่ Zambezi
36. AMD Steamroller – GCN APU
ในปี 2014 AMD ได้ปรับปรุง APU ใหม่อีกครั้ง โดยใช้สถาปัตยกรรม Streamroller ซึ่งอยู่ในกระบวนการผลิตขนาด 28 นาโนเมตร ช่วยให้ซีพียูมีความเร็วสัญญาณนาฬิกาเพิ่มขึ้น และทำงานเข้ากันได้กับ iGPU ที่ใส่เข้าไป พร้อมทั้งแคช L1 ที่มีขนาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สัญญาณนาฬิกามันไม่ได้สูงกว่าตัว Richland เท่าไรนัก ประสิทธิภาพในการประมวลผลจึงไม่ค่อยต่างกัน ทางด้านของกราฟิก ได้รับการปรับปรุงให้ดีมากขึ้น มีขนาดทรานซิสเตอร์ที่เล็ก และ Shader มากขึ้น อีกทั้งยังรองรับ HSA (ช่วยให้ซีพียูและ iGPU ใช้บัสเดียวกัน ลดปัญหาคอขวด และความล่าช้าในการส่งข้อมูล), TrueAudio DSP ของ AMD เอง และรองรับ PCIe 3.0 ด้วย โดย Streamroller ตัวแรกคือ Kaveri ถัดมาจึงเป็น Godavari ซึ่งตัวหลังจะมีความเร็วสัญญาณนาฬิกาเพิ่มขึ้น
37. AMD Jaguar
AMD ออกซีพียู Jaguar เพื่อทดแทน AMD Bobcat โดยมีการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เพิ่มจำนวนหัวประมวลผล เป็น Quad-Core และใช้กราฟิกสถาปัตยกรรม GNC 128 Shaders พร้อมทั้งสัญญาณนาฬิกาที่สูงขึ้น และ IPC ที่มีดีขึ้นอีก 15% ทำให้ Jaguar แรงกว่า Bobcat ในทุกๆ ด้าน นอกจากนี้ Jaguar ยังถูกนำไปใช้ในเครื่องคอนโซลอย่าง Xbox One และ PlayStation 4 ซึ่งรุ่นที่ใช้ในคอนโซลนี้ จะมีหัวประมวลผลในซีพียู และ iGPU มากกว่ารุ่นที่ขายทั่วไป
38. Excavator จุดจบของ Bulldozer
สถาปัตยกรรมสุดท้ายของ AMD ที่มีฐานจาก Bulldozer คือ Excavator ซึ่งถูกใช้ใน APU Carrizo สินค้าของ Excavator ที่ออกมาในตอนนี้มีค่อนข้างน้อย ทำให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับซีพียูรุ่นนี้ค่อนข้างน้อยไปด้วย โดย AMD น่าจะมีการปรับปรุงให้ทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็กลง ลดการใช้พลังงาน และปรับแต่งเรื่องแคช แม้ว่าแคช L2 จะน้อย แต่แคช L1 กลับมีมากขึ้นกว่า Steamroller ถึง 2 เท่า (แคช L1 ทำงานได้เร็วกว่า L2 นะครับ) ซึ่งช่วยให้ IPC มันมีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย ส่วนแคช L2 ที่มีมา จะแชร์ไปให้ iGPU ไปใช้งานด้วย อันนี้ต้องบอกเลยว่า เพราะแคช L2 มันน้อยอยู่แล้ว และต้องแชร์ไปให้ iGPU ใช้อีก ทำให้ซีพียูตัวนี้มันไม่ได้เร็วขึ้นมากเท่าไรครับ
39. Ryzen ผู้กอบกู้
หลังจากที่ AMD เสียส่วนแบ่งไปให้กับ Intel มานานหลายปี โดยเฉพาะช่วง Bulldozer ทำให้ AMD ต้องฝากความหวังไว้กับ Ryzen ให้กอบกู้สถานการณ์ครับ
สำหรับ Ryzen นั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 รุ่นใหญ่คือ Ryzen 7/5/3 โดยตรงนี้ผมขอให้ข้อมูลเฉพาะตัวท็อปก่อนนะครับ คือ Ryzen 7 1800X ที่เป็นซีพียู 8 Cores / 16 Threads มีความเร็วสัญญาณนาฬิกาเริ่มต้นที่ 3.6 GHz และสามารถเพิ่มขึ้นได้สูงถึง 4.1 GHz ตามงานที่ต้องประมวลผล เจ้าหัวประมวลผล 8 แกนเนี่ย จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนคั่นด้วยแคช L3 8 MB และแต่ละแกนจะคั่นด้วยแคช L2 512 KB + L1 data 64 KB + L1 instruction 64 KB รวมทั้งหมดได้ 16 MB ซึ่งซีพียู Ryzen นี้ จะมีความสามารถในการเรียนรู้คำสั่งที่ใช้งานบ่อยๆ และจัดเก็บไว้ใช้ในครั้งถัดไป ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น สำหรับการใช้งานนะครับ Ryzen จะใช้งานร่วมกับชิปเซต AM4 และรองรับการทำงานร่วมกับแรม DDR4 ที่มีบัสสูงๆ ได้ และที่สำคัญคือ ทุกรุ่นสามารถ Overclock ได้ทุก Core ครับ
เอาล่ะครับ สำหรับประวัติของซีพียูจาก AMD ก็จบลงเพียงเท่านี้ ถ้ามีข้อมูลตรงไหนผิดตกบกพร่อง ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ^^
เป็นอย่างไรกันบ้าง เพื่อนๆ เคยใช้รุ่นไหนกันบ้างเอ่ย (ของผมตอนนี้ใช้ Ryzen 3 1200 อยู่ อิอิ) สามารถบอกกันมาได้ในคอมเม้นต์นะครับ แล้วถ้าอยากให้ผมเขียนประวัติของฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ตัวไหน ค่ายไหน ก็รีเควสกันมาได้นะครับ สำหรับวันนี้ ขอตัวไปอ่านหนังสือแล้วนะครับ สวัสดีคร้าบบบ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.tomshardware.com
You must be logged in to post a comment.