[Extreme History] ซีพียู Core 2 series การตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่ทำให้ Intel ครองตลาด Desktop อย่างยาวนาน

หากย้อนเวลาไปเมื่อ 14 ปีก่อน ตลาดซีพียูทั้ง Intel และ AMD เชือดเฉือนกันอย่างเมามัน แต่ที่หลาย ๆ คนยังจดจำกันได้ดี คือการมาถึงของ Intel Core 2 series ที่ตอกกลับคู่แข่งจนหน้าหงายต้องล้มลุกคลุกคลานร่วม 10 ปี

และวันนี้ผมจะพาเพื่อน ๆ หวนกลับไปสู่เรื่องราวของ Intel Core 2 series อีกครั้ง ใบทความชุด Extreme History ครับ

Intel Core 2 series ถูกรู้จักกันในนามซีพียูที่มีแกนประมวลผลมากกว่า 1 แกน (ไม่นับ Core 2 Solo ละกันนะ) ถึงแม้จะไม่ใช่ซีพียูของ Intel ตัวแรกที่มีแกนประมวลผลหลายแกน แต่ Core 2 series คือชุดแรกที่ Intel ใช้ตอกกลับ AMD ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่า

ช่วงต้นแรก ๆ ความแตกต่างทางด้านราคาของซีพียู Single-Core และ Dual-Core นั้นมีค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าตัวของซีพียูเอง, เมนบอร์ด ไปจนถึงการรองรับพอร์ตที่จำเป็นก็ยังมีอยู่น้อยมาก แม้ AMD จะเป็นผู้ริเริ่มเทรนด์ของซีพียูหลายแกน แต่ Intel กลับทำให้มันกลายเป็นที่รู้จัก มันเย้ายวนถึงขนาดที่ทำให้ Apple ยอมเลิกใช้ PowerPC แล้วหันหน้าเข้ามาสู่สถาปัตยกรรม x86 เลยทีเดียว

ต้นกำเนิดของ Core 2 series ต้องขอย้อนไปไกลยิ่งกว่าปี 2006 เพราะต้นแบบของสถาปัตยกรรมจริง ๆ คือการถอดแบบโครงสร้าง Pentium Pro (สถาปัตยกรรม P6) ที่เปิดตัวในปี 1995 และเป็นต้นแบบของ Pentium II/III แล้วทำไมถึงต้องย้อนไปไกลขนาดนั้น ก็เพราะสถาปัตยกรรมล่าสุดนี่แหละที่ทำให้ Intel ตกที่นั่งลำบาก

เรื่องของเรื่องคือ Intel ยึดติดเทรนด์ในการปั่นความเร็วของซีพียูมากเกินไป ด้วยความที่สมัยนั้นการโฆษณามักจะพูดถึงความเร็วในระดับ GHz เป็นจุดขาย ทำให้เกิดแนวคดที่ว่า “ยิ่ง GHz เยอะ ซีพียูยิ่งแรง” แถม Intel ยังทะเยอทะยานต้องการดันความเร็วซีพียูไปถึงจุด 10 GHz (พระเจ้า !!) จึงก่อเกิดโครงสร้างใหม่ในชื่อ Netburst

ผมจะไม่ลงลึกในเชิงสถาปัตยกรรมมากนัก แต่ขอกล่าวคร่าว ๆ ว่า Netburst มาการออกแบบให้ Pipeline มีความยาวกว่าที่เคยเป็น เพราะเชื่อว่ามันคือปัจจัยที่ช่วยปั่น GHz ให้สูงได้ จนเกิดเป็นซีพียู Pentium 4 อันเลื่องชื่อ แต่พอเอาเข้าจริงดันทำได้สูงสุดราว 3.8 GHz  เท่านั้น แถมยังร้อนสุด ๆ และมีประสิทธิภาพสู้ Athlon ของ AMD ไม่ได้ หากย้อนไปที่กราฟส่วนแบ่งการตลาดในเวลานั้น จะพบว่า AMD ได้นำหน้า Intel ไปแล้วครับ

Netburst Architecture

แต่นั่นคือ AMD K7 พอมาถึงรุ่นถัดไปอย่าง K8 ในชื่อ Athlon 64 X2 ที่มาพร้อมแกนประมวลผล Dual-Core ร่วมกับการผนวกเอา Memory controller ไว้ภายในตัวซีพียู (ปกติจะอยู่ในชิป Northbridge ของชิปเซ็ต) อีกทั้งยังกินไฟน้อยกว่า แม้ Intel จะออก Pentium 4 Smithfield ที่มีแกน Dual-Core มาสู้ก็ไม่สำเร็จ เรียกได้ว่าตอนนั้น AMD กินทุกหน้าตัก ไม่เหลือที่ว่างให้เทรนด์ความแรงของ GHz แล้ว แต่คนเริ่มมองที่ประสิทธิภาพต่อพลังงานเสียมากกว่า

โครงสร้าง HyperTransport ของ AMD

เพื่อแก้เกมให้ทัน Intel จึงหันกลับไปมองที่สถาปัตยกรรมเจ้าปัญหา แม้ Netburst จะทำออกมาเพื่อปั่นความแรงให้กับซีพียูเดสก์ทอป แต่ทางด้านซีพียูโน้ตบุ๊กนั้น Intel มองว่ามันร้อนและกินไฟเกินกว่าจะนำมาใช้ได้ จึงย้อนกลับไปหา Pentium III ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยพร้อมวางขายในชื่อ Pentium M แทน โดยใช้โค้ดเนม Banias และ Dothan เห้ย !! ปรากฏว่ามันโคตรเจ๋ง ถึง GHz จะไม่สูง แต่ประสิทธิภาพต่อการใช้พลังงานมันโอเคมากเลย ทำให้ Intel เข้าถึงแสงแห่งธรรม พร้อมนำ Pentium M มาปรับใช้ทันที

จนกระทั่งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2006 ซีพียู Core 2 series โค้ดเนม Conroe ถือกำเนิดขึ้น เป็นกลุ่มซีพียู 2 Cores/2 Threads ไม่มี HyperThreading ถึงแม้จะเคยทำมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานในซีรีย์ดังกล่าว อีกทั้ง Intel ยังคงทิ้ง Memory Controller ไว้ใน Northbridge เหมือนเดิม โดยไม่เอามารวมไว้ในซีพียู เราไปฟังเหตุผลกันครับ

Intel บอกว่าตอนแรกกำลังคิดว่าจะเอายังไงดี ระหว่างเติม HyperThreading หรือเติมแคช L2 เพิ่ม ปรากฏว่าบริษัทเลือกอย่างหลัง เพราะการเปิด HyperThreading จะยิ่งทำให้ซีพียูร้อนกว่าเดิม และเช่นเดียวกันกับ Memory Controller ถึงแม้มันจะช่วยลด Latency ในการควบคุมแรม แต่ด้วยแคช L2 ที่เยอะกว่าเดิม ประกอบกับโครงสร้างแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม (ขอไม่ลงรายละเอียดละกัน) ทำให้ Front-side bus ของ Pentium 4 ยังใช้งานได้ดี แถมประสิทธิภาพโดยรวมยังดีกว่าคู่แข่งเสียด้วยซ้ำ

เมื่อประตูแห่งวันพิพากษาได้เปิดทำการ Intel ส่ง Core 2 series ลงสนาม ปรากฏว่าเว็บไซต์ทุกสำนักต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า Core 2 ไม่เพียงแต่เอาชนะ Pentium 4 ตัวเก่า แต่ยังแรงแซง Athlon 64 X2 อย่างขาดลอย ปัดทุกอย่างเก็บลงถังขยะแทบในทันที

ถึงแม้ AMD จะพยายามแก้มือด้วย Phenom (ซึ่งแรงกว่า Athlon แหละ) แต่ประสิทธิภาพก็ยังเป็นรองจาก Core 2 Duo ตามมาด้วย Phenom II ที่พอจะแซง Core 2 Duo ได้ แต่ตอนนั้นคือ Intel พัฒนาไปถึง Core i7 แล้ว ห้วงเวลานั้นส่วนแบ่งการตลาดของ Intel เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่ง AMD เข้าสู่ยุคมืดในสมัยของ Bulldozer (ตระกูล FX) ทำให้ Intel ลอยลำด้วยประสิทธิภาพที่ทิ้งห่างจนไม่เห็นฝุ่นไปเลย

ต้องบอกว่าบทความจากต้นทางเว็บไซต์ Extreme Tech เขาบอกว่าตอนที่ Intel พัฒนา Pentium M แทนที่จะใช้ Pentium 4 นั้น ผู้เขียนเคยกล่าวเตือนให้ AMD ระวังตัวไว้แล้วว่า Dothan (Pentium M) มันน่ากลัวนะ และสุดท้ายมันก็เกิดขึ้นจริง เมื่อ Intel ปรับปรุงและนำมาลงเดสก์ทอป เรียกว่าหันหัวเรือเพียงครั้งเดียว เปลี่ยนสถานการณ์ของ Intel 0กหน้ามือเป็นหลังมือเลยครับ

ก็จบกันเพียงเท่านี้กับเรื่องราวของ Intel Core 2 series เป็นอย่างไรกันบ้างครับ มีเพื่อน ๆ คนไหนที่ยังใช้หรือเก็บคอม LGA775 ไว้อยู่หรือเปล่านะ ลองบอกเล่าความภาคภูมิใจและสถานการณ์ในตอนนั้นให้แอดฟังด้วยนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.extremetech.com/computing/232503-happy-10th-birthday-to-intels-core-2-duo

https://www.anandtech.com/show/10525/ten-year-anniversary-of-core-2-duo-and-conroe-moores-law-is-dead-long-live-moores-law

Related articles

รีวิวสอบ CompTIA CySA+ เกือบหลับแต่กลับมาได้ พร้อมแชร์แหล่งเรียนรู้ ใครอยากสอบต้องดู

ก่อนหน้านี้ผมเคยสอบ CompTIA Security+ ไปแล้ว (ย้อนอ่านได้ที่ ลิงก์นี้) ด้วยความที่สนใจสาย Blue Team...

การเลือกซื้อแบตเตอรี่สำรองสำหรับ iPhone 16

การใช้งาน iPhone 16 ที่หลากหลาย ทั้งการเดินทางไกล เที่ยวต่างประเทศ วิ่งเทรล เดินป่า หรือใช้งานในออฟฟิศและชีวิตประจำวัน...

ADATA และ XPG ร่วมมือกันขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “Unite for Victory รวมใจเพื่อชัยชนะ”

บริษัท ADATA เทคโนโลยี จำกัด ผู้นำแบรนด์ด้านหน่วยความจำ และการจัดเก็บข้อมูล พร้อมด้วยแบรนด์เกมมิ่ง XPG ยินดีประกาศการจัดสัมมนาคู่ค้า...

[HOW TO] เช็กก่อนใช้ไฟล์น่าสงสัยติดไวรัส ฟรี! ด้วยเว็บไซต์ Virustotal

เชื่อว่ามีหลายคนที่เคยประสบพบเจอกับการถูกแฮ็ก Facebook หรืออีเมล โดยมีต้นตอมาจากการโหลดโปรแกรมเถื่อน หรือมีไฟล์ติดไวรัสแถมมาในเครื่อง จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถเช็กไฟล์นั้นได้ และรู้ด้วยว่าไฟล์ติดไวรัสพวกนั้นทำอันตรายอะไรกับคอมเราได้บ้าง วันนี้แอดมีเว็บไซต์เช็กไฟล์ไวรัสมาแนะนำ นั่นคือ www.virustotal.com...

เผยผลทดสอบ AMD Fluid Motion Frames 2 (AFMF) เพิ่มเฟรมเรตในเกมได้สูงถึง 78%

ปัจจุบันฟีเจอร์ที่ช่วยเพิ่มเฟรมเรตในเกม นอกเหนือจากเทคโนโลยีอัปสเกลภาพอย่าง DLSS/FSR แล้ว ที่มาแรงในตอนนี้คือ Frame Generation ซึ่งล่าสุดทาง AMD...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า