[Extreme History] ไวรัสสุดร้ายแรง “I LOVE YOU” – เพราะอาจารย์ไม่ให้ผมผ่าน Thesis

หลังจากที่ห่างหายจากบทความในซีรีย์ Extreme History ไปนาน วันนี้ผมมีเรื่องราวเกี่ยวกับ “ไวรัสคอมพิวเตอร์” มาให้อ่าน เชื่อว่าต้องมีคนรู้จักมันในชื่อ ไวรัส ILOVEYOU ซึ่งเคยสร้างความเสียหายแก่วงการคอมพิวเตอร์อย่างมหาศาล แต่รู้หรือไม่ว่าจุดเริ่มต้นของมันมาจากความผิดหวังที่อาจารย์ไม่ยอมรับธีสิสของนักศึกษามหาวิทยาลัยครับ

จดหมายรัก บุก !!

ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2000 (ปี 2543) คอมพิวเตอร์ทั่วโลกกำลังถูกรุกรานด้วยไวรัสคอมพิวเตอร์ ในตอนนั้นมันถูกเรียกว่า Love Bug ภายใน 1 วันหลังจากที่มันถูกปล่อยออกมา มีคอมพิวเตอร์กว่า 3 ล้านเครื่องติดเชื้อ ทำให้มันได้ชื่อว่าเป็นไวรัสที่เพิ่มจำนวนเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา

การทำงานของไวรัสตัวนี้ไม่ได้มีอะไรมากเลยครับ เหยื่อจะได้รับอีเมลที่มีชื่อว่า I Love You ภายในอีเมลจะมีไฟล์แนบที่ตั้งชื่อไว้ว่า Love-Letter-For-You.txt ทันใดที่เหยื่อเปิดไฟล์แนบนี้ขึ้นมา โค้ดภายในจะเพิ่มจำนวนตัวเองขึ้นแล้วสร้างอีเมลแบบเดียวกันส่งต่อไปให้เพื่อนที่อยู่ใน Address book

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมแค่ไฟล์ Text (.txt) ถึงสร้างความเสียหายได้ขนาดนี้ แท้จริงแล้วนามสกุลไฟล์จริงของมันนั้นคือ .vbs ซึ่งเป็นนามสกุลของสคริปต์ที่ใช้ควบคุมระบบบน Windows เนื่องจากนามสกุลจริงถูกซ่อนเอาไว้ แล้วโปรแกรมสแกนไวรัสในเวลานั้นยังไม่รู้จักไวรัสตัวนี้ จึงไม่สามารถตรวจจับความผิดปกติของไฟล์สคริปต์นี้ได้ จนสุดท้ายคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นจะติดเชื้อจนกู่ไม่กลับ

ส่วนไวรัสที่เข้ามาอยู่ในคอม มันจะค้นหาไฟล์จำพวกรูปภาพหรือไฟล์เพลง MP3 แล้วแทนที่ด้วยไฟล์ Love-Letter-For-You.txt ของตัวเอง สุดท้ายไวรัสจะขโมยรหัสผ่านของ Windows เครื่องนั้นส่งกลับไปยังฐานข้อมูลต้นทาง

ไวรัสถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อคอมพิวเตอร์กว่า 45 ล้านเครื่องทั่วโลกภายใน 1 สัปดาห์ แต่ไวรัสนี้กลายเป็นประเด็นร้อนมากขึ้นเมื่อมันสามารถแทรกซึมไปยังระบบที่น่าจะปลอดภัยที่สุดในโลก ใช่แล้วครับ – คอมพิวเตอร์ของกองทหารสหรัฐฯ ในตึกเพนตากอน ถูกโจมตีด้วยไวรัส I Love You ที่ส่งมาในอีเมล

มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากไวรัสตัวนี้ประมาณกันว่าอยู่ในหลักพันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว แต่เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการพัฒนาโปรแกรมของนักศึกษาหนุ่มอายุ 24 ปี และเขาสร้างมันขึ้นมาเพราะต้องการพิสูจน์ให้อาจารย์เห็นว่าธีสิสของเขานั้นใช้งานได้จริง !!

 

เพราะอาจารย์ไม่เห็นด้วยกับธีสิสของผม…

Onel de Guzman นักศึกษาจากวิทยาลัย AMA Computer College เขาได้ส่งร่างวิทยานิพนธ์หรือธีสิสให้กับอาจารย์ที่ปรึกษา โดยธีสิสนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ขโมยรหัสผ่าน Windows แล้วเข้าใช้อินเทอร์เน็ตจากเครื่องของเหยื่อ”

Onel de Guzman

Onel ยังให้การเพิ่มเติมว่าในเวลานั้นอินเตอร์เน็ตในฟิลิปปินส์ยังเป็นแบบรายชั่วโมง เหมือนเน็ตบ้านโมเด็มของไทยเรานี่แหละครับ ซื้อบัตรมาเติมชั่วโมง แถมยังมีราคาแพงมาก ในขณะที่คอมพิวเตอร์ทางฝั่งอเมริกาและยุโรปเป็นแบบจ่ายรายเดือน มันคงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถเข้าถึงคอมของคนในทวีปเหล่านั้น เราก็จะได้ใช้อินเทอร์เน็ตได้นานขึ้นโดยที่ไม่ต้องจ่ายเงิน

ทว่าอาจารย์ที่ปรึกษากลับปฏิเสธธีสิสชิ้นนี้ โดยบอกว่า “สถาบันของเราไม่ได้ผลิตขอทาน และนี่คือสิ่งผิดกฎหมาย” เท่านั้นล่ะครับ Onel เลยตั้งใจที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าธีสิสของเขาคือการช่วยเหลือคนฟิลิปปินส์ ไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด จนเป็นจุดกำเนิดของ Love Bug ไวรัสกลุ่ม Worm ที่ร้ายแรงที่สุดตัวหนึ่งในโลกคอมพิวเตอร์

คาดว่า Onel และเพื่อนได้จัดส่งไวรัสตัวนี้ไปยังรายชื่ออีเมลต่าง ๆ โดยใช้จ่าหน้าอีเมลว่า I Love You ลองคิดดูว่าในยุคนั้นถ้าเราได้รับอีเมลสักฉบับมันน่าดีใจขนาดไหน ยิ่งตั้งชื่อล่อใจว่า I Love You หนุ่มสาวชาวโสดหลายคนคงหักห้ามใจไม่ไหวว่าใครน้าแอบรักเราอยู่

หลังจากที่ไวรัสเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วจนเกินต้านทาน อาจารย์ที่ปรึกษาของ Onel ไม่อยากเชื่อเลยว่าธีสิสจากลูกศิษย์ของตนเองจะมาปรากฏให้ชาวโลกได้เห็น ในขณะเดียวกัน Onel เองก็ไม่อยากเชื่อว่าตนเองได้สร้างไวรัสที่แพร่กระจายได้รวดเร็วขนาดนี้

สุดท้ายการสืบสวนทำให้พบกับ Onel de Guzman สิ่งที่เขาได้ทำไว้กับชาวโลกอาจทำให้เขาถูกจำคุกหัวโต ทว่าในเวลานั้นในฟิลิปปินส์ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ แม้ว่าจะมีการร่างกฎหมายขึ้นมาหลังจากการสืบสวนสำเร็จแล้ว แต่กฎหมายไม่มีผลย้อนหลังได้ จึงไม่สามารถเอาผิด Onel ได้เลยแม้แต่ประการเดียว

อย่างไรก็ตาม ชาวฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยกลับมอง Onel เสมือนฮีโร่ของประเทศ เพราะเขาทำให้คนทั่วโลกรู้ว่าชาวฟิลิปปินส์นั้นมีอัจฉริยะปราดเปรื่องอยู่ด้วย ขนาดที่ว่าสามารถเจาะเข้าถึงระบบกองทหารในตึกเพนตากอนได้ ถึงจะเป็นประเทศโลกที่ 3 ถึงจะมีวิทยาการล้าหลังอย่างที่หลายชาติมอง แต่ยังมีคน ๆ หนึ่งที่สามารถทำได้ก็แล้วกัน

ไวรัส I Love You ถูกกำจัดได้ด้วยการออกอัปเดตของโปรแกรมสแกนไวรัส แม้ในปัจจุบันมันจะไร้พิษสงค์ไปเป็นที่เรียบร้อย แต่วีรกรรมของผู้สร้าง Love Bug นี้ก็เปรียบเสมือนตำนานชั้นเซียนของเหล่าแฮกเกอร์ทั้งหลายสืบต่อไปครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://edition.cnn.com/2020/05/01/tech/iloveyou-virus-computer-security-intl-hnk/index.html

https://stmuhistorymedia.org/the-most-destructive-thesis-in-history-i-love-you-the-computer-virus/

https://www.silicon.co.uk/security/cyberwar/tales-tech-history-love-bug-213685

https://www.bbc.com/news/10095957

Related articles

[HOW TO] ย้ายเกม Steam จากไดรฟ์ C ไปไดรฟ์ D ง่าย ๆ ไม่เสียเวลาโหลดเกมใหม่ !!

ปัญหาหนึ่งหลายคนอาจจะเคยเจอ คือ ไดรฟ์ C ใกล้เต็มจากการลงเกม Steam แต่ไดรฟ์ D เหลือเยอะมาก...

เคลียร์ชัด! ความแตกต่างระหว่างที่ชาร์จแบตรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน VS. ข้างนอก

ในปัจจุบันเริ่มมีการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ทำให้เราต้องปรับตัวและทำความรู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ใครที่เลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกไอเทมที่จะขาดไปไม่ได้ก็คือ ‘ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ EV...

Igor’s Lab เผย การ์ดจอแพงแต่ซิลิโคนห่วย ทำให้เกิดความร้อนสูง เมื่อใช้งานนาน ๆ

เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ร้องเรียนบนเว็บไซต์ Reddit ถึงปัญหาการ์ดจอร้อนถึง 100 องศาเซลเซียส หลังจากใช้งานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง (ไม่ได้นานมาก เป็นหลักเดือน)...

ป้องกัน: Dell Precision 5690 โน้ตบุ๊กระดับ Workstation สเปกโหด สำหรับสายทำงานโดยเฉพาะ

ปัญหาที่พบได้บ่อย สำหรับการหาซื้อโน้ตบุ๊กมาใช้งานเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็น Adobe, AutoCAD หรือ Solidworks คือ “ความเข้ากันได้กับซอฟต์แวร์”...

เจาะลึก “AMD Ryzen 9000 Series” และเมนบอร์ด AM5 800 Series จากงาน AMD Tech Day

สัปดาห์ที่ผ่านมา แอดได้ไปงาน AMD Tech Day ซึ่งเขาได้เจาะลึกเทคโนโลยีของ AMD ทั้งซีพียู Ryzen,...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า