รวมทุกเรื่องที่คุณควรรู้ ก่อนประกอบคอมขนาดเล็ก ITX (Small Form Factor PC)

ในยุคนี้ผมว่าคอมพิวเตอร์แบบ Small Form Factor (SFF) หรือที่บางคนชอบเรียก mini-PC หรือ mini-ITX กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับวันนี้ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับคอมแบบ SFF มากขึ้น ว่ามันมีจุดเด่นหรือจุดด้อยที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการตัดสินใจครับ

จุดเด่นของ SFF

ก่อนที่เราจะไปพูดถึงประเด็นใดก็ตาม ผมอยากให้เพื่อน ๆ ได้พิจารณาถึงจุดเด่นและจุดด้อยของ SFF ไปเลนตั้งแต่แรก จะได้เลือกไว้เลยว่าต้องการประกอบคอมประเภทนี้หรือไม่ ซึ่งจุดเด่นของ SFF มีดังนี้

ใช้พื้นที่น้อย

จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของ SFF คือขนาดเครื่องเล็ก จึงใช้พื้นที่ใช้การจัดวางน้อยกว่าคอมพิวเตอร์แบบทั่วไป เราสามารถจัดวางคอม SFF นี้ ไว้บนโต๊ะสำหรับวางแจกันดอกไม้ หรือวางบนโต๊ะเขียนหนังสือก็ยังได้ จึงทำให้เราใช้สอยพื้นที่อื่น ๆ บนโต๊ะได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย

แน่นอนว่าคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็ก สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่า สำหรับ SFF นี้ เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนย้ายไปยังห้องต่าง ๆ ภายในบ้าน อย่างผมเองที่ชอบมีตติ้งเล่นเกมกับเพื่อนในหอช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็ยังอยากได้คอม SFF ไว้เล่นเกมสักเครื่อง เพราะมันเล่นเกมมันกว่าโน้ตบุ๊ก แต่เคลื่อนย้ายสะดวกกว่าคอมแบบ Full tower ครับ

เหมาะสำหรับเอนเตอร์เทนเมนต์

เนื่องจากว่า SFF นั้นเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็ก จึงประหยัดพื้นที่และสามารถจัดวางบนโต๊ะร่วมกับจอโทรทัศน์ในห้องนั่งเล่นได้ นั่นทำให้ SFF ได้รับความนิยมในหมู่คนที่ชื่นชอบการเสพเอนเตอร์เทนเมนต์แบบจัดเต็ม

เรียบหรูดูแพง

อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนชื่นชอบ คือความสวยงามของคอมแบบ SFF เชื่อว่าคนที่จัดคอมประเภทนี้จะเน้นการจัดให้เข้าธีมกับส่วนอื่น ๆ ภายในห้อง เพราะฉะนั้น ตัวเครื่องจึงค่อนข้างมีเอกลักษณ์ และให้ความรู้สึกเป็นอิสระในการปรับแต่งมากกว่าคอมพิวเตอร์แบบทั่วไป

 

จุดด้อยของ SFF

ราคาแพง !!

ใช่แล้วครับ ของชิ้นเล็กชอบมีราคาแพง อาจจะเป็นเพราะความยากในการผลิต หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องยอมรับว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบคอมขนาดเล็กนี้มักมีราคาแพงกว่าขนาดทั่วไป เพราะฉะนั้น ต้องวางแผนการซื้อของให้ดีเสียก่อน ไม่งั้นงบบานปลายแน่นอน

พื้นที่ (ในเคส) จำกัด

ด้วนเคสที่มีขนาดจำกัดทั้งด้านความยาว ความลึก และความสูง จึงต้องเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับขนาดของเคส ผมเคยพบปัญหาแนวนี้บ่อย ๆ ที่ฮีตซิ้งค์สูงออกมานอกเคส หรือใหญ่เกินไปจนทับพื้นที่ของสล็อตอื่น ๆ บนเมนบอร์ด เพราะฉะนั้น ต้องเลือกอุปกรณ์ให้ดี ๆ อย่าลืมดู Dimension (ขนาด) ของอุปกรณ์นั้น หรือเลือกชิ้นที่คอมเฟิร์มว่ารองรับ SFF จะดีที่สุดครับ

ร้อน !!

ความร้อนนับว่าเป็นศัตรูตัวร้ายในคอมทุกประเภท แต่สำหรับคอม SFF มักจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดและอุปกรณ์ภายในที่อัดแน่นกว่า ทำให้การไหลเวียนของลมภายในเคสไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะฉะนั้น เวลาติดตั้งอุปกรณ์ในเคสจะต้องจัดเคเบิลให้เป็นระเบียบมากที่สุด เพื่อไม่ให้ขวางทิศทางลมครับ

 

คำแนะนำในการเลือกซื้ออุปกรณ์ประกอบคอม SFF

เคส

จริง ๆ ผมว่าคอมพิวเตอร์จะสวยไม่สวยอันดับแรกขึ้นอยู่กับเคสเลยล่ะ ซึ่งปัจจุบันเคสขนาด ITX สำหรับประกอบคอม SFF มีให้เลือกสรรกันมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ละเอียดก่อนเลือกซื้อเคส ITX คือการประเมินช่องว่างภายใน ร่วมกับอุปกรณ์ชิ้นอื่นที่จะซื้อมาใส่ อุปกรณ์ที่พบปัญหาบ่อย ๆ คือ ฮีตซิ้งค์, การ์ดจอ และ PSU ที่มักมีขนาดไม่สัมพันธ์กับช่องว่างภายในเคส (ส่วนมากคือซื้อมาผิดไซส์ ขนาดใหญ่ไปใส่เคสไม่ได้)

อีกเรื่องหนึ่งคือ ความสะดวกในการจัดทิศทางลมภายในเคส เนื่องจากเคสบางรุ่นมีความทึบทำให้ลมไหลผ่านได้ไม่ดี หรือเคสบางรุ่นอาจจะจัดสายเคเบิลยากไปหน่อย ซึ่งในประเด็นนี้ผมแนะนำให้เพื่อน ๆ ลองหารีวิวเคสดูเสียก่อนที่จะตัดสินใจซื้อครับ

ฮีตซิ้งค์

สำหรับกรณีของฮีตซิ้งค์ลม ส่วนใหญ่มักพบปัญหาซิ้งค์เลยขอบของตัวเคสออกมาเยอะเกินไปจนปิดฝาเคสไมได้ ซึ่งเราสามารถแก้ปัญหาด้วยการซื้อฮีตซิ้งค์ลมแบบ Low-profile เพราะจะมีขนาดไม่ใหญ่มากและค่อนข้างเตี้ยจึงไม่เลยขอบเคสออกมา แต่ถ้าอยากได้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนเพิ่มขึ้นมาหน่อย บางคนก็เลือกใช้เป็นฮีตซิ้งค์ลมแบบปกติแทน นั่นหมายความว่าเคสที่ใช้ก็จะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยครับ

ส่วนชุดน้ำผมว่าไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร เนื่องจากปกติแล้วบล็อกน้ำจะมีขนาดพอดี ๆ กับตัวซีพียู และไม่สูงเท่ากับฮีตซิ้งค์ลม แต่ปัญหาจะไปตกอยู่ที่หม้อน้ำ ซึ่งถ้ามีขนาดใหญ่มากเกินไปก็อาจจะเลยขอบเคสออกมา หรือสูงเกินกว่าจะใส่เข้าไปในเคสได้ และเช่นเดิมครับ อย่าลืมประเมินขนาดของเคสกับอุปกรณ์ระบายความร้อนก่อนเลือกซื้อด้วยล่ะ

 

การ์ดจอ

สำคัญที่สุดคือการเช็คความยาวของการ์ดจอ บางคนอาจจะเลือกการ์ดจอแบบ Low-profile มาใช้ แต่เนื่องจากการ์ดจอประเภทนี้ไม่ค่อยมีรุ่นท็อป ๆ วางขายสักเท่าไร เพราะฉะนั้นก็จะหันไปใช้แบบพัดลมเดี่ยว ซึ่งจะมีขนาดยาวและหนาขึ้นมาหน่อย แต่ก็ได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม

ทีนี้การ์ดจอรุ่นท็อป ๆ อย่างเช่น RTX 3080 อาจจะไม่มีรุ่นพัดลมเดี่ยววางจำหน่ายเลย ต้องเขยิบมาเป็นพัดลมคู่หรือสามพัดลม ทำให้ขนาดมันอาจจะยาวเกินขอบเขตของเคสหากเราไม่ได้วัดขนาดไว้ดี ๆ

วิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง กรณีที่ไม่สามารถติดตั้งการ์ดจอลงบนสล็อต PCIe บนเมนบอร์ดได้ อาจหาซื้อ PCIe riser เพื่อจะได้ติดตั้งการ์ดจอในตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ทำการ์ดจอแนวตั้ง เป็นต้น

 

SSD

อุปกรณ์เก็บข้อมูลที่นิยมในปัจจุบันคงหนีไม่พ้น SSD และด้วยความที่คอม SFF มีพื้นที่จำกัด ผมแนะนำให้เลือกใช้ M.2 SSD จะดีที่สุด เพราะติดตั้งลงบนสล็อต M.2 เท่านี้ก็เรียบร้อย แต่ถ้าเป็น SATA SSD ตลับสี่เหลี่ยมหรือ HDD มันจะมีเคเบิลพ่วงเข้ามาด้วย อย่าลืมนะครับ ยิ่งมีสายเคเบิลเยอะ การจัดเก็บสายก็จะวุ่นวายขึ้น และอาจขัดขวางทิศทางการระบายอาการอีกด้วย

 

PSU

เคส ITX บางรุ่นจะรองรับการติดตั้ง PSU ทั่วไปที่ใช้ในขนาดปกติ แต่จริง ๆ แล้วยังมี PSU อีกประเภทเรียกว่า SFX ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่าและนิยมใช้ในคอม SFF มากกว่าครับ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้ PSU ขนาดเล็กหรือใหญ่ ผมอยากให้เลือกชนิด Modular เนื่องจากเราจะสามารถเลือกใช้เฉพาะสายไฟที่จำเป็นและช่วยให้จัดการสายไฟได้ง่ายกว่าด้วยครับ

และนี่คือเรื่องที่คุณควรรู้ก่อนการจัดสเปกคอม Small Form Factor สำหรับใครที่มีคอมขนาดเล็กเป็นของตัวเองแล้ว สามารถคอมเมนต์โชว์คอมของตัวเองได้ แล้วอย่าลืมแปะสเปกโดยละเอียดมาไว้ให้ด้วยนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.techspot.com/article/2119-everything-about-small-form-factor-pc/

Related articles

PowerColor เผยฟีเจอร์ Edge AI ใช้ชิป NPU ช่วยให้การ์ดจอกินไฟลดลง สูงสุดถึง 22% !!

ช่วงนี้ AI กำลังมาแรง จะเห็นว่าในซีพียูจะมีชิป NPU เพื่อช่วยการประมวลผล AI โดยเฉพาะ ซึ่งทาง...

[เรื่องน่ารู้] Cybernetics vs. 80 Plus มาตรฐาน PSU แบบไหนดีกว่ากัน ??

เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เลือกซื้อซีพียู ส่วนหนึ่งต้องพิจารณามาตรฐาน 80 Plus เพื่อบอกถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพในการจ่ายไฟ แต่ยังมีอีกมาตรฐานหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ด้วย นั่นคือมาตรฐาน...

GIGABYTE เปิดตัวผลิตภัณฑ์ในซีรีส์ AI TOP – ตอบโจทย์คอม AI ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

ปีนี้มันปีของ AI จริง ๆ จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์คอมชิ้นไหน ๆ ก็เน้น AI เป็นพิเศษ...

1-Click Auto Tune คลิกเดียวการ์ดจอก็แรงขึ้น แถมปรับค่า OC ได้ ด้วย NVIDIA App

ในงาน Computex ที่ผ่านมา NVIDIA ไม่ได้มีการเปิดตัวฮาร์ดแวร์ด้านเกมมิ่งออกมานะครับ แต่อย่าน้อยใจไป เพราะอย่างน้อยก็มีการอัปเดตซอฟต์แวร์ใหม่ NVIDIA App...

รู้จัก Project G-Assist ผู้ช่วย AI สุดยอดคลังความรู้ ให้การเล่นเกมของเราสนุกขึ้นกว่าเดิม !!

นี่น่าจะเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ AI ของค่ายเขียว ที่ถูกใจเหล่าเกมเมอร์อย่างแน่นอนกับ Project G-Assist ผู้ช่วยในการเล่นเกม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นมุกตลกในวัน April...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า