ฤทธิ์เดชของ “แก๊สน้ำตา” และวิธีการรับมืออย่างถูกต้อง

จากเหตุการณ์ที่ผ่าน ๆ มา หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของแก๊สน้ำตากันบ่อยขึ้น วันนี้แอดขออนุญาตพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับแก๊สชนิดนี้ให้มากขึ้น พร้อมวิธีการป้องกันตนเองหากได้รับสารเคมีอย่างเลี่ยงไม่ได้

แก๊สน้ำตา มีชื่อเล่นภาษาอังกฤษแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น Tear gas, Lacrimation gas หรือ Riot control agent (ชื่อสุดท้ายนี้ แปลว่า สารควบคุมจลาจล) แต่ไม่ว่าจะชื่ออะไร แก๊สน้ำตาเป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกัน โดยแก๊สน้ำตาชนิดแรกคือสาร Chloroacetophenone (CN gas) ถูกคิดค้นและใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเยอรมนี เป้าหมายของแก๊สชนิดนี้คือ สร้างการก่อกวนกองทัพศัตรูด้วยการทำให้เกิดอาการระคายเคือง จนกองทัพศัตรูต้องแตกฝูงกันออกไป

ในเวลาต่อมานักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน Corson และ Stoughton ได้คิดค้นแก๊สน้ำตาชนิดใหม่มาจากสาร Orthochlorobenzylidenemalononitrile เรียกสั้น ๆ ว่า CS gas (ตามพยัญชนะตัวแรกของผู้ค้นพบทั้งสอง) ซึ่งออกฤทธิ์รุนแรงกว่า CN gas ถึง 10 เท่า แต่เป็นอันตรายน้อยกว่า จากนั้นมันจึงเข้ามาในบทบาทสารเคมีทางการทหาร และถูกนำไปใช้ครั้งแรกในสงครามเวียดนามโดยทหารอเมริกัน ว่ากันว่าสหรัฐฯ ต้องใช้ CS gas หลายพันตันเพื่อขับไล่ทหารเวียดกง

สำหรับในประเทศไทย แก๊สน้ำตาจัดอยู่ในยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่แก๊สแบบที่เราเข้าใจกันนะครับ แต่มันอยู่ในลักษณะผงละเอียด เมื่อนำไปอัดเข้าในภาชนะบรรจุภายใต้แรงดัน ครั้นภาชนะระเบิดออกมาจะทำให้ผงของแก๊สน้ำตาฟุ้งกระจายในอากาศได้คล้ายสถานะแก๊ส (Aerosol) นอกจากนี้ ผงแก๊สน้ำตายังสามารถผสมกับตัวทำละลายให้อยู่ในสถานะของเหลวได้อีกด้วย

แก๊สน้ำตาสามารถออกฤทธิ์ได้กับหลายระบบอวัยวะ กลไกหลัก ๆ ของมันคือก่อให้เกิดความระคายเคืองโดยเฉพาะบริเวณเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ดวงตา, ผิวหนัง หรือทางเดินหายใจ ความรุนแรงของผู้ที่ได้รับสารจะแตกต่างกันออกไปขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ, ระยะเวลาที่ได้รับ และความไวในการตอบสนองของร่างกาย แบ่งอาการที่เกิดขึ้นได้ตามระบบอวัยวะ ดังนี้

ดวงตา – ดวงตาเป็นอวัยวะแรกสุดที่จะได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา และมักมีอาการเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงกว่าอวัยวะอื่น เมื่อแก๊สกระทบดวงตาจะก่อให้เกิดอาการแสบตา, นํ้าตาไหล, เยื่อบุตาบวมแดง, หนังตาบวม หรือมองไม่เห็นชั่วคราว จึงเป็นที่มาของชื่อ “แก๊สน้ำตา”

นอกจากนี้ จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า แก๊สน้ำตาอาจทำให้เกิดกระจกตาถลอกได้ มาจากทั้งตัวสารเคมีเองและจากพฤติกรรมของผู้ที่ได้รับสาร (ซึ่งอาจจะขยี้ตาแรง ๆ หลังได้รับสาร เพราะแสบตา) ปกติแล้วอาการจะไม่ค่อยรุนแรง และสามารถฟื้นฟูได้เองในระยะเวลาอันสั้น แต่ถ้าหากได้รับสารเคมีในปริมาณมาก ก็อาจจะทำให้กระจกตาพร่ามัวถาวรได้ด้วย

ระบบทางเดินหายใจ ด้วยเหตุที่แก๊สน้ำตาสามารถฟุ้งกระจายในอากาศ จึงง่ายที่จะสูดดมเข้าไปในทางเดินหายใจ ซึ่งในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์นั้น เต็มไปด้วยเยื่อบุผิวที่เป็นเป้าหมายของแก๊สน้ำตา จึงก่อให้เกิดอาการไอ, มีเสมหะ, น้ำมูกไหล, จาม, แน่นหน้าอก หรือหายใจหอบลําบาก

และถ้าเดิมผู้ที่ได้รับสารมีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด อาจถูกกระตุ้นอาการได้จากแก๊สน้ำตา หรือในผู้ป่วยที่มีถุงลมโป่งพอง เมื่อได้รับแก๊สน้ำตาจะแสดงอาการทางระบบหายใจรุนแรงกว่าบุคคลทั่วไป

ผิวหนัง – ผิวหนังเป็นระบบอวัยวะที่จะได้รับอันตรายอย่างรวดเร็วถัดจากดวงตา เนื่องจากเป็นส่วนนอกสุดปกคลุมร่างกาย ผู้ที่ได้รับแก๊สน้ำตาอาจมีอาการผิวหนังแดง, แสบร้อน หรือคัน โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ ซึ่งเป็นจุดที่เหงื่อออกมาและมีไขมัน แก๊สน้ำตาจะละลายและถูกดูดซึมได้ง่ายกว่า ในกรณีที่มีอาการแพ้หรือร่างกายได้รับสารเคมีปริมาณมาก อาจเกิดผิวหนังพุพองเป็นถุงน้ำได้

ระบบทางเดินอาหาร – ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายและปริมาณที่ได้รับ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียร่วมด้วยได้

การป้องกันตนเองจากแก๊สน้ำตา

แน่นอนว่าวิธีการป้องกันตนเองจากแก๊สน้ำตาที่ดีที่สุดคือ ไม่อยู่ในพื้นที่ที่มีแก๊สน้ำตา (ส่วนใหญ่จะมีการประกาศเตือนก่อน) แต่ถ้าหากเลี่ยงไม่ได้ คุณจำเป็นต้องสัญจรไปมาในบริเวณดังกล่าว ควรแต่งกายด้วยเสื้อและกางเกงขายาวที่ปกปิดมิดชิด แต่ถอดออกง่ายไม่รัดแน่นเกินไป รวมถึงการสวมหมวก, สวมหน้ากากอนามัย และใส่แว่นตาป้องกัน (ห้ามสวมคอนแทคเลนส์ !!) ซึ่งถ้าเป็นไปได้ผมแนะนำให้ใช้แว่นแบบ Safety goggles ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในห้องทดลอง หรือถ้าหาไม่ได้อาจใช้แว่นตาสำหรับว่ายน้ำ เพราะแว่นแบบนี้จะมีแถบยางที่ดูดติดกับผิวหนัง จึงช่วยลดการสัมผัสกับแก๊สน้ำตาที่ฟุ้งอยู่ในอากาศได้

นอกจากนี้ เนื่องจากแก๊สน้ำตายังละลายได้ดีในไขมัน ก่อนเข้าชุมนุมหรือเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ไม่ควรทาโลชั่นหรือครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพราะอาจทำให้แก๊สน้ำตาออกฤทธิ์ได้เร็วและรุนแรงขึ้นด้วย

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หากคุณได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา การปฐมพยาบาลเบื้องต้นแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้

– ออกจากพื้นที่บริเวณนั้นให้เร็วและห่างไกลที่สุด หากเลี่ยงไม่ได้ควรไปยืนอยู่ในจุดต้นลม เพื่อลดการสัมผัสกับแก๊สน้ำตา และให้ลมช่วยพัดเอาละอองของแก๊สน้ำตาออกจากร่างกายด้วย

– อย่าตื่นตระหนก ให้กลั้นหายใจหรือปิดจมูกให้แน่นหนา สูดลมหายใจช้า ๆ เพื่อลดปริมาณของแก๊สน้ำตาที่จะเข้าสู่ทางเดินหายใจ (ถ้ายิ่งตื่นเต้นเราจะยิ่งหายใจเร็ว)

– เมื่อมีอาการแสบตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ โดยล้างแบบไหลผ่าน (เช่น การเปิดก๊อกน้ำให้ไหลผ่านดวงตาอย่างต่อเนื่อง หรืออาจใช้ขวดน้ำเจาะรูที่ฝาแล้วบีบให้ผ่านดวงตาอย่างต่อเนื่อง) อย่างน้อย 15-30 นาที เพื่อชะล้างสารเคมีออกให้มากที่สุด

หากสวมคอนแทคเลนส์ให้รีบถอดออกทันที เพราะจะยิ่งเพิ่มความระคายเคืองต่อดวงตา

– หากมีอาการไอ มีน้ำลายหรือน้ำมูกมาก ให้สั่งน้ำมูกและบ้วนน้ำลายทิ้ง เพราะอาจมีสารเคมีปนเปื้อนในสารคัดหลั่ง หากสูดน้ำมูกกลับอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อบุในโพรงจมูก หรือถ้ากลืนน้ำลายอาจระคายเคืองทางเดินอาหารได้

– ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารเคมีออก เก็บใส่ในถุงมิดชิด แล้วค่อยนำผ้าไปชะล้างด้วยน้ำเย็น ห้ามใช้น้ำร้อนเพราะสารเคมีอาจระเหยและเป็นอันตรายได้

– ชําระล้างร่างกายด้วยนํ้าเย็นและสบู่ (แก๊สน้ำตาจะมีฤทธิ์อ่อนลงเมื่อเจอสารเคมีที่เป็นด่าง) อย่าลืมเน้นทำความสะอาดบริเวณข้อพับด้วยล่ะ

หวังว่าบทความนี้จาก Extreme IT จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ และช่วยให้เข้าใจถึงวิธีการป้องกันและปฐมพยาบาลตนเองเมื่อได้รับแก๊สน้ำตามากขึ้นนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ชมพูนุท คงสวัสดิ์วรกุล นักศึกษาแพทย์ชั้นปี ที่ 6 ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

Related articles

แรมบัสสูง vs. แรม CL แน่น ๆ – จะประกอบคอมเล่นเกม ต้องใช้แรมบัสสูง ๆ จริงหรือไม่?

เรื่องตัวเลขความเร็วในวงการคอมพิวเตอร์มันเป็นของคู่กันนะครับ แต่ในอุปกรณ์บางอย่าง ความเร็วอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป และแรมก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เราไม่สามารถมองได้แค่ตัวเลขของความเร็วหรือบัสแรมเพียงอย่างเดียวครับ ทำไมเป็นอย่างนั้น ผมจะพาไปหาคำตอบครับ รายละเอียดของการทดสอบและผลทดสอบขอหยิบยกมาจากเว็บไซต์ Techspot ซึ่งได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของแรม DDR5 ที่บัส 5600MHz,...

แอลจีเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาใหม่ “เทคโนโลยีที่เข้าใจคุณมากขึ้น” ภายใต้แนวคิด AI ความอัจฉริยะที่มีเสน่ห์

แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (แอลจี) เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาใหม่ล่าสุดภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีที่เข้าใจคุณมากขึ้น” (Less Artificial, More Human)...

[Extreme History] – ELIZA แชตบ็อตนักบำบัด (จอมปลอม) สร้างขึ้นเพื่อทดสอบจิตใจมนุษย์

จากหัวเรื่องผมไม่ได้กล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะ ELIZA ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบจิตใจ (หลอกลวง) มนุษย์ ถึงขนาดทำให้นักจิตบำบัดยังหลงเชื่อว่ามันคือ AI ที่สามารถบำบัดจิตได้จริง...

“realme 14 Series 5G” X “Bacon Time” ผนึกกำลังทีมอีสปอร์ตระดับโลก เปิดตัว Performance Dominator คนใหม่ สัมผัสนวัตกรรมเกมมิ่งโฟนสุดยิ่งใหญ่ 27 มีนาคมนี้ พร้อมกัน!

realme (เรียลมี) แบรนด์เทคโนโลยีเพื่อคนรุ่นใหม่ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ประกาศแผนกลยุทธ์ปี 2568 เดินหน้าสู่การเป็นสมาร์ตโฟนที่สมบูรณ์แบบทั้งในด้านประสิทธิภาพ ดีไซน์ และคุณภาพการใช้งาน ประกาศจับมือ...

ศัพท์การ์ดจอต้องรู้ – TDP, TGP และ TBP ตัวย่อบอกการใช้พลังงาน แต่ละอันคืออะไรกันนะ ??

ไม่ว่าใครที่เข้าวงการคอมพิวเตอร์มาทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ น่าจะคุ้นเคยกับตัวย่อ TDP, TGP และ TBP โดยเฉพาะการ์ดจอ แต่ผมก็เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่าจริง ๆ...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า