ที่มาของ “ไทยเกษมณี” เลย์เอาต์คีย์บอร์ดยอดนิยม ที่ทำให้เราทุกคน “พิมพ์หนักขวา”

ช่วงวันใกล้ปีใหม่ ใครที่ไม่ได้ออกไปเที่ยวไหนวันนี้แอดมีบทความน่าสนใจมาให้อ่านกัน เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่าเลย์เอาต์คีย์บอร์ดภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีที่มาที่ไปอย่างไร และรู้หรือไม่ว่ามันไม่ได้มีแค่เลย์เอาต์ไทยเกษมณีเท่านั้นนะ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรไปดูกันเลยครับ

ต้นกำเนิดพิมพ์ดีดภาษาไทย

ก่อนที่จะมาถึงแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดในคอมพิวเตอร์ แอดขอเกริ่นจุดเริ่มต้นการพัฒนาคีย์ภาษาไทยเสียก่อน โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาพิมพ์ดีดที่มีภาษาไทย เกิดขึ้นเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย Mr. Edwin Hunter McFarland หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน (เขามีตำแหน่งเป็นเลขานุการส่วนพระองค์ ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ) เกิดไอเดียอยากสร้างเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น

ใน พ.ศ. 2434 เขาจึงเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อหาบริษัทที่ต้องการลงทุนผลิตเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย จนได้เครื่องพิมพ์ดีดจากบริษัท Smith Premier มาในที่สุด

หลังจากที่ McFarland และบริษัท Smith Premier ร่วมออกแบบและวางตำแหน่งตัวอักษรไทยได้สำเร็จ ก็ได้เป็นเครื่องพิมพ์ดีดไทย Smith Premier ที่ไม่มีคีย์ยกแคร่ (ไม่มี Shift) มี 7 แถว ทำให้พิมพ์สัมผัสไม่ได้ และพยัญชนะ ฃ/ฅ ถูกตัดออกไป เพราะคีย์ไม่พอ

นับว่าเป็นเครื่องพิมพ์ดีดที่มีคีย์ภาษาไทยเครื่องแรกในสยามประเทศ และได้รับการพัฒนาเรื่อย ๆ ช่วงหลังสามารถยกแคร่ได้แล้ว แต่การพิมพ์สัมผัสยังทำได้ไม่สะดวก เพราะติดปัญหาทางเทคนิคบางประการ เช่น ต้องพิมพ์สระลอยก่อนพยัญชนะ (กิน ต้องพิมพ์สระอิก่อน แล้วตามด้วย ก+น) หรือพิมพ์ ฝ ไม่ได้ ต้องพิมพ์ ผ แล้วต่อหาง เป็นต้น

ไทยเกษมณี จุดเริ่มต้นของการพิมพ์สัมผัส

ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ.2465 George McFarland (น้องชายของ Edwin Hunter McFarland) ได้ร่วมกับพนักงานในห้างของเขาอีก 2 คน คือ นายสวัสดิ์ มากประยูร ซึ่งเป็นช่างประดิษฐ์ก้านอักษร และนายสุวรรณประเสริฐ เกษมณี (นายกิมเฮง) ผู้ออกแบบการวางตำแหน่งแป้นอักษร เพื่อออกแบบและจัดวางแป้นอักษรใหม่เพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่

โดยพวกเขาได้จัดวางตัวอักษรที่มีสถิติใช้บ่อยในตำแหน่งที่พิมพ์ได้ง่าย ซึ่งพิจารณาจากหนังสือต่าง ๆ จำนวน 38 เล่ม รวมแล้วกว่า 167,456 คำ ทั้งหมดนี้ใช้เวลากว่า 7 ปีจึงสำเร็จในปี พ.ศ.2474 แน่นอนว่าผู้วางตำแหน่งอักษรบนแป้นพิมพ์ คือ นายกิมเฮง จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกเลย์เอาต์ “ภาษาไทยเกษมณี” ตามชื่อผู้ออกแบบ จนกลายเป็นแป้นแบบมาตรฐานถึงปัจจุบัน

สำหรับตัวพยัญชนะ ฃ/ฅ ถูกเพิ่มมาในภายหลัง เมื่อนำมาทำเป็นเลย์เอาต์สำหรับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ โดยเพิ่มเข้าไปที่ตำแหน่งขวามือของ ล.ลิง ตามรหัส ANSI

แต่เลย์เอาต์นี้ใช่ว่าจะไม่มีปัญหานะครับ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เนื่องจากการวางเลย์เอาต์ถูกออกแบบให้ตัวพยัญชนะที่ใช้บ่อยถูกพิมพ์ได้ง่าย ส่งผลให้ตัวพยญชนะจำพวก ค น า ส ว ท ถูกจัดวางให้อยู่ในโซนมือขวา (เพราะน่าจะเป็นมือข้างถนัดของคนส่วนใหญ่ด้วย) ดังนั้น การพิมพ์จะค่อนข้าง “หนักขวา” พบว่าผู้ใช้จะพิมพ์มือขวามากถึง 70% ในขณะที่มือซ้ายทำงานเพียง 30% อาจทำให้เมื่อยมือได้ง่าย โดยเฉพาะนิ้วก้อยขวาที่มีกำลังน้อย ต้องคอยกดปุ่ม Shift ขวาเพื่อยกแคร่ ในขณะที่ Shift ซ้ายถูกใช้งานน้อยมาก

ไทยปัตตะโชติ แก้จุดบกพร่องของไทยเกษมณี

จากจุดบกพร่องที่กล่าวไป ในปี พ.ศ. 2509 นายสฤษดิ์ ปัตตะโชติ ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบตำแหน่งแป้นอักษรใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยการสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเขาสุ่มเลือกหนังสือหลากหลายสาขารวม 50 เล่ม แต่ละเล่มสุ่มออกมา 1,000 ตัวอักษร รวม 50,000 ตัวอักษร จากนั้นสำรวจว่าใน 1,000 ตัวอักษร จะมีอักษรตัวใดที่ใช้พิมพ์มากน้อยเพียงใดลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ แล้วจึงนำสถิติตัวอักษรที่เก็บได้มาใช้ออกแบบแป้นพิมพ์ดีดใหม่

ซึ่งการออกแบบจะจัดวางจะยึดหลักที่ให้ตัวอักษรที่ใช้บ่อยให้อยู่ในตำแหน่งนิ้วที่แข็งแรงไม่เกิน 3 แถวล่างตามลำดับ โดยมีแถวที่สองเป็นศูนย์กลาง สุดท้ายจึงได้เลย์เอาต์ใหม่ที่ถูกเรียกว่า “ภาษาไทยปัตตะโชติ” ตามผู้ออกแบบครับ

ในเมื่อขิงกันแบบนี้ จึงได้มีผู้ทำการทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการพิมพ์จากเลย์เอาต์ปัตตะโชติเทียบเกษมณี โดยใช้อาสาสมัคร 100 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม จากนั้นให้ใช้เวลาฝึกหัด 100 ชั่วโมง (เป็นเวลา 8 เดือน) แล้วนำผลลัพธ์มาเทียบกัน

ปรากฏว่า กลุ่มที่เรียนพิมพ์สัมผัสด้วยเลย์เอาต์ปัตตะโชติ สามารถพิมพ์ได้เร็วกว่าเลย์เอาต์เกษมณีถึง 26.8% เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเลย์เอาต์ปัตตะโชติถูกพัฒนามาหลังจากเกษมณีถึง 35 ปี ทำให้คนไทยติดการใช้เลย์เอาต์เกษมณีมากกว่า สุดท้ายเลย์เอาต์ปัตตะโชติจึงเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้เลย์เอาต์ไหนในระบบคอมพิวเตอร์ จะเห็นได้จากตอนติดตั้ง Windows เลยครับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://issuu.com/83799/docs/pattachote_artwork__1revised

https://www.orst.go.th/FILEROOM/CABROYINWEB/DRAWER004/GENERAL/DATA0000/00000628.FLP/html/87/#zoom=z

http://km.atcc.ac.th/external_newsblog.php?links=652

https://www.nectec.or.th/it-standards/keyboard_layout/thai-key.html

Related articles

[HOW TO] ย้ายเกม Steam จากไดรฟ์ C ไปไดรฟ์ D ง่าย ๆ ไม่เสียเวลาโหลดเกมใหม่ !!

ปัญหาหนึ่งหลายคนอาจจะเคยเจอ คือ ไดรฟ์ C ใกล้เต็มจากการลงเกม Steam แต่ไดรฟ์ D เหลือเยอะมาก...

เคลียร์ชัด! ความแตกต่างระหว่างที่ชาร์จแบตรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน VS. ข้างนอก

ในปัจจุบันเริ่มมีการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ทำให้เราต้องปรับตัวและทำความรู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ใครที่เลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกไอเทมที่จะขาดไปไม่ได้ก็คือ ‘ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ EV...

Igor’s Lab เผย การ์ดจอแพงแต่ซิลิโคนห่วย ทำให้เกิดความร้อนสูง เมื่อใช้งานนาน ๆ

เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ร้องเรียนบนเว็บไซต์ Reddit ถึงปัญหาการ์ดจอร้อนถึง 100 องศาเซลเซียส หลังจากใช้งานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง (ไม่ได้นานมาก เป็นหลักเดือน)...

ป้องกัน: Dell Precision 5690 โน้ตบุ๊กระดับ Workstation สเปกโหด สำหรับสายทำงานโดยเฉพาะ

ปัญหาที่พบได้บ่อย สำหรับการหาซื้อโน้ตบุ๊กมาใช้งานเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็น Adobe, AutoCAD หรือ Solidworks คือ “ความเข้ากันได้กับซอฟต์แวร์”...

เจาะลึก “AMD Ryzen 9000 Series” และเมนบอร์ด AM5 800 Series จากงาน AMD Tech Day

สัปดาห์ที่ผ่านมา แอดได้ไปงาน AMD Tech Day ซึ่งเขาได้เจาะลึกเทคโนโลยีของ AMD ทั้งซีพียู Ryzen,...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า