XT REVIEW : TAMRON 15-30mm F2.8 ในที่สุดก็มาครบไลน์ซูมโปร!

XT REVIEW : TAMRON 15-30mm F2.8 ในที่สุดก็มาครบไลน์ซูมโปร!

มีคำถามที่แฟนๆ TAMRON รอคำตอบกันมานานสำหรับเลนส์ช่วงมุมกว้างไวแสงว่าเมื่อไหร่จะมาเสียที? เพราะก่อนหน้านี้ทั้งช่วงมาตรฐานและเทเลโฟโต้ก็ออกมากันหมดแล้ว …ในที่สุดคำถามนั้นก็ได้รับคำตอบ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่อาจทำให้หลายคนถึงกับอึ้งเมื่อได้เห็นตัวจริง เพราะระยะเริ่มต้นของมันคือ 15mm!

 

AMRON ประกาศตัวเองไว้อย่างชัดเจนถึงความเป็นเจ้าแห่งผู้ผลิตเลนส์ซูม แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่เต็มเสียงเท่าไหร่นัก เพราะเลนส์ซูมเกรดโปรไวแสงระดับ F/2.8 อันเป็นที่นิยมของตลาดนั้นยังมีเพียงแต่ระยะ 24-70mm (รหัส A007), 90mm Macro (รหัส F004) และ 70-200mm (รหัส A009) ที่ออกมาก่อนหน้านี้นานพอสมควร ซึ่งยังขาดระยะมุมกว้างพิเศษสำหรับกล้องระดับ Full Frame ที่ TAMRON ยังคงปล่อยให้เป็นช่องโหว่อยู่

แต่ในที่สุดมันก็มาจนได้ แถมยังมาแบบไม่ธรรมดาเสียด้วย เพราะน้อยคนนักที่จะคาดไปถึงว่า TAMRON จะเล่นแรงด้วยการส่งระยะเริ่มต้นมาที่ 15mm และซูมปลายอยู่ที่ 30mm ผมเองก็เพียงแต่เดาว่าน่าจะเป็นระยะ 16-35mm เช่นเดียวกับที่มีอยู่ในท้องตลาด …สงสัยจะชดเชยให้สมกับที่แฟนๆ รอมานาน

“SP 15-30mm F/2.8 Di VC USD รหัส A012″ คือชื่ออย่างเป็นทางการของเลนส์มุมกว้างพิเศษรุ่นนี้ครับ เป็นเลนส์มุมกว้างไวแสงถึง F/2.8 ที่มีระบบ “กันสั่น” (ที่เราเรียกกันจนติดปาก) ติดมาให้ด้วย ซึ่งก็ถือเป็นเลนส์ซูมมุมกว้าง F/2.8 รุ่นแรกของโลกที่มีกันสั่นมาในตัว กันสั่นของ TAMRON ก็จะมีชื่อว่า “VC” ซึ่งย่อมาจาก Vibration Compensation นั่นเอง

2_VCSwitch

เลนส์มุมกว้างก็คงไม่ต้องสาธยายกันให้มากความว่ามันย่อมให้ภาพ มุมกว้างอยู่แล้วล่ะ แต่ F/2.8 น่ะมันจำเป็นไหม? แล้วกันสั่นน่ะให้มาทำไม? เพราะยังไงเราก็ต้องใช้รูรับแสงแคบเพื่อให้ภาพมันชัดลึกสำหรับวิวทิวทัศน์ อยู่แล้วนี่?

สำหรับคำถามข้อแรกในเรื่อง F/2.8 ผมเองคิดว่าคงจะเป็นที่คาใจหลายๆ ท่านอยู่เหมือนกันครับ ซึ่งก็คงไม่เฉพาะกับ TAMRON เท่านั้นหรอก ผู้ใช้ค่ายอื่นๆ ก็คงจะสงสัยอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่า F/2.8 แล้วมันก็ย่อมจะทั้งหนักทั้งแพงแน่ๆ อีกทั้งขนาดมันก็จะใหญ่เพราะความจำเป็นของขนาดชิ้นเลนส์ด้วยอีกต่างหาก โอเค สำหรับเลนส์ระยะอื่นๆ นั่นพอเข้าใจได้ว่าเอาไว้ละลายฉากหลัง ถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอหน้าเบลอหลังชัดอะไรก็ว่ากันไป แต่กับเลนส์มุมกว้างที่เรามักจะใช้ F แคบๆ น่ะเอามาทำไม?

มันเป็นอย่างนี้ครับ…ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อกล้องพร้อมทำงาน รูรับแสงของเลนส์จะถูกเปิดเอาไว้ที่ตำแหน่ง “กว้างสุด” เสมอ ซึ่งที่รูรับแสงกว้างสุดนี้ก็หมายความว่าแสงจะผ่านเข้ามาได้มาก ส่งผลดีต่อระบบโฟกัสอัตโนมัติ, ช่องมองภาพ หรือพูดง่ายๆ ว่ามันช่วยให้มองเห็นได้ดียิ่งกว่าทั้งสำหรับกล้องและคนที่อยู่หลังกล้อง ซึ่งก็จะยิ่งแสดงอิทธิฤทธิ์ดั่งพระเอกขี่ม้าขาวขึ้นมาเลยทีเดียวเมื่ออยู่ใน ที่ซึ่งมีแสงน้อย เช่น งานพิธีช่วงกลางคืน ในร่ม ในอาคาร ในเธคในผับ ในถ้ำ ในเหว ฯลฯ ซึ่งเลนส์ไวแสงพวกนี้ก็จะได้เปรียบกว่าเลนส์ทั่วไปอยู่ไม่น้อย ซึ่งเลนส์ที่ไม่ไวแสงนั้นก็มักจะวิ่งวืดวาดจับโฟกัสไม่ได้สักทีอยู่ร่ำไปจน ชักจะเสียอารมณ์นั่นแหละ

อีกอย่างก็คือคุณสมบัติ “ชัดตื้น” ของภาพถ่ายที่ต้องใช้รูรับแสงกว้าง ยุคนี้เป็นเรื่องของความแปลกใหม่ครับ ดังนั้นก็อย่าไปติดอยู่กับระบบที่ว่าเมื่อเป็นเลนส์มุมกว้างก็ต้องใช้ F แคบๆ เพื่อความชัดลึกเสมอไป เดี๋ยวนี้คนถ่ายภาพภาพมุมกว้างด้วยเลนส์ไวด์แบบชัดตื้นชนิดที่ให้ตัวแบบอยู่ ใกล้ๆ ก็มีให้เห็นกันเพียบเลยทีเดียวเชียว

3_F28

ต่อมาก็คือระบบกันสั่น ซึ่งมันจะช่วยลดอาการสั่นไหวของภาพ ปกติเรามักจะคุ้นกับการใช้เลนส์ไวด์ร่วมกับขาตั้งกล้องใช่ไหมล่ะครับ? ซึ่งเจ้าระบบนี้มันย่อมไม่จำเป็นอยู่ดีนั่นแหละเพราะเมื่ออยู่บนขาตั้งกล้อง เราก็ต้องปิดระบบกันสั่นไปซะ (ทำไมต้องปิดกันสั่นเมื่ออยู่บนขาตั้งกล้อง อ่านดูได้ที่นี่ครับ) จนกระทั่งคุณต้องถือกล้องมือเปล่าเข้าไปถ่ายภาพในที่ซึ่งมีแสงน้อยอย่างที่ ยกตัวอย่างไปด้านบน เมื่อต้องใช้สปีดชัตเตอร์ความเร็วต่ำระบบกันสั่นก็ย่อมจะช่วยได้นั่นแหละ จริงไหมล่ะ?

และอีกอย่างครับ “Cinematography” ก็คือเรื่องฮอตฮิตของผู้คนยุคนี้ที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวกันด้วย DSLR ซึ่งเมื่อจับถือกล้องด้วยมือเปล่า (หรือที่เรียกว่า Hand-held) ระบบกันสั่นก็จะช่วยได้อีกโขเลยเหมือนกัน

เอาล่ะ นั่นมันเป็นเรื่องที่ว่ากันด้วยเหตุและผล ส่วนทั้งสองเรื่องที่มีอยู่ในเลนส์ตัวนี้จะดีจริงหรือไม่ อันนี้ต้องมาดูกันต่อไป

• ภายนอก

ครั้งแรกที่ได้เห็นหน้าตาตั้งแต่เมื่อยังคงเป็นเพียงรูปภาพ ต้องบอกว่าผมเซอร์ไพร์สมากที่ TAMRON เล่นเลนส์ที่ชิ้นหน้าโป่งนูนขนาดนี้ สารภาพตามตรงเลยครับ ผมนึกว่าเค้ากำลังจะออกเลนส์ Fish-eye เข้ามาในตลาด (ซึ่งก็อยากให้ทำอยู่เหมือนกัน) แต่เมื่อได้รับการเฉลยว่าเป็นเลนส์มุมกว้างผมก็นึกถึงเลนส์มุมกว้างพิเศษของ อีกค่ายหนึ่งขึ้นมาทันที

และเมื่อได้เจอของจริงสมัยที่ยังเป็นตัวต้นแบบ ต้องยอมรับว่าผิวพรรณหน้าตาดูดี แต่ขนาดและน้ำหนักเป็นสิ่งที่น่ากังวลอยู่บ้าง มันก็ใช่ว่าจะใหญ่โตมโฬารและหนักอึ้งอะไรมากมายนักหนาหรอกครับ แต่ถ้ามันจะเล็กกว่านี้ได้อีกสักหน่อยและเบากว่านี้ได้อีกสักนิดก็น่าจะ เยี่ยมเลย

4_Body_1

วัสดุภายนอกและงานประกอบดูดีตามมาตรฐานเกรดโปรครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร เพราะตั้งแต่ TAMRON ปรับเปลี่ยนดีไซน์มาเป็นแบบ “Tungsten Silver” ซึ่งแสดงสัญลักษณ์ด้วยวงแหวนสีเทาเงินรอบกระบอกเลนส์ผมก็ยังไม่เห็นมีตัวไหน ที่ทำออกมาแล้วต้องเบือนหน้าหนีเลย ซึ่งรุ่นนี้ก็เช่นเดียวกันครับ สัมผัสแล้วมั่นใจในเงินที่จ่ายออกไปเลยทีเดียว ออกแบบส่วนเว้าส่วนโค้งมาได้ดีและสวยงามมาก

ไม่มีปุ่มควบคุมอะไรให้สลับซับซ้อนนอกจากเพียงสวิทช์ระบบโฟกัสแบบ Auto/Manual และ VC On/Off มาตรแสดงระยะด้านบนบอกระยะโฟกัสเป็นเมตรและฟุต

วงแหวนซูมอยู่ด้านหน้า วงแหวนโฟกัสอยู่ด้านหลัง เป็นวัสดุยางเนื้อดีตามระเบียบ เม้าท์แปลนท้ายเลนส์แบบโลหะ เก็บงานมาเรียบร้อย และมีวงแหวนยางรอบท้ายเลนส์ในส่วนที่จะประกบเข้ากับกล้องเพื่อป้องกันความ ชื้นและฝุ่นละอองมาให้ด้วย ส่วนนี้ดูเรียบร้อยดี

15_Body_4

ฮูดทรงกลีบดอกไม้ (อันดุดัน) แบบติดตายตัวไม่สามารถถอดออกได้ ช่วยป้องกันหน้าเลนส์ได้ระดับหนึ่ง ฝาปิดเลนส์แบบสวมซึ่งมีขนาดใหญ่พอสมควร ก็ต้องว่าไปตามขนาดหน้าเลนส์นั่นเอง

5_Body_2 copy

เลนส์ชิ้นหน้านี่แหละครับตัวเรียกความสนใจเลย มันเป็นเลนส์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 10 ซม. และผิวโค้งขนาดใหญ่ ดังนั้นเรื่องฟิลเตอร์ทั่วไปคงไม่ต้องพูดถึงเพราะใส่ไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งก็คงต้องรอดูต่อไปว่าจะมีฟิลเตอร์แบบสวมครอบลงมาที่ฮูดออกมาให้ใช้งาน ขนาดไหน แต่เท่าที่ไปเดินในงาน Photo Fair เมื่อปีที่แล้ว (2557) ก็เห็นมีผู้ผลิตฟิลเตอร์ชนิดนี้ขายอยู่เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็จะตกอยู่ในชะตากรรมร่วมของเลนส์มุมกว้าง 14-24mm ของฝั่ง Nikon เพราะมันมีลักษณะด้านหน้าที่ใกล้เคียงกันมาก และแน่นอนว่า EF 11-24mmL ตัวใหม่ล่าสุดของ Canon ก็ร่วมอยู่ในชะตากรรมนี้ด้วยเหมือนกัน

ที่ผมแอบประหลาดใจเล็กๆ ก็คือ เมื่อหมุนซูมหน้าเลนส์ก็จะยืดเข้ายืดออกตามปกติ แต่ TAMRON ใส่ฮูดชั้นที่สอง (Double hood) ให้ขยับตามกระบอกซูมมาด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเหตุผลคืออะไร ซึ่งจากการอธิบายของทาง TAMRON เองเค้าก็ได้บอกเอาไว้ว่าเพื่อความแข็งแรงของระบบเกลียวซูมที่ดีขึ้นของ เลนส์นั่นเอง อืมมม ก็ฟังมีเหตุผลอยู่นะ

6_Body_3

• ภายใน

รุ่นนี้มีชิ้นเลนส์ 18 ชิ้นครับ แบ่งเป็น 13 กลุ่ม ในกลุ่มชิ้นหน้าจะมีชิ้นเลนส์แบบ XGM (eXpanded Glass Mold Aspherical) ซึ่งเป็นชิ้นเลนส์ที่ผลิตยากและต้นทุนสูงร่วมอยู่ด้วย และยังมีชิ้นเลนส์แบบ LD (Low Dispersion) นัยว่าชิ้นเลนส์พิเศษเหล่านี้ก็เพื่อช่วยแก้อาการบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน (Distortion) ของภาพและลดอาการสีเหลื่อม CA (Chromatic Aberration) ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเลนส์มุมกว้างอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเป็นเลนส์ซูมละก็ ถ้าทำออกมาไม่ดีจริงมันแทบจะไปฉายในโรงหนังสามมิติที่ต้องใส่แว่นน้ำเงินแดง ได้เลยเชียว (ฟังดูเข้าท่าดีแต่อันนี้ผมประชด) แต่แท้ที่จริงแล้วเจ้า CA นี่ล่ะตัวทำลายความคมชัดชนิดจำเลยที่หนึ่งเลยทีเดียว

CONSTRUCTION

ชิ้นเลนส์มีระบบการเคลือบผิวทั้งแบบ BBAR (Broad-Band Anti Reflection) และ eBAND อันเป็นลิขสิทธิ์ประจำค่าย เพื่อช่วยลดอาการแฟลร์และแสงหลอกแสงหลอนทั้งหลายให้น้อยลง ซึ่งนี่ก็เป็นอีกไม้เบื่อไม้เมากับเลนส์มุมกว้างด้วยเช่นกัน

แต่ที่เชิดหน้าชูตาที่สุด (และสมควรที่สุด) ก็คือ การเคลือบผิวเลนส์ชิ้นหน้าสุดด้วยสาร Fluorine ซึ่งจะช่วยปกป้องทั้งจากน้ำและคราบสกปรกต่างๆ รวมไปถึงฝุ่นด้วย ซึ่งมันก็จะไม่เกาะตัวติดกับผิวเลนส์มากนัก หรือถ้าเกาะก็จะเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นจุดอ่อนของเลนส์ที่มีผิวหน้าเป็นรูปโค้งขนาดใหญ่เช่น นี้ เพราะการใส่ฟิลเตอร์ชนิดป้องกัน (Protect) จะทำไม่ได้เลย ดังนั้น TAMRON ก็เลยเคลือบสารไฮโซตัวนี้มาให้รู้แล้วรู้รอดกันไป

7_SECTION

ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ A012 มีลำตัวอวบอ้วนขนาดนี้ก็เพราะต้องใส่ระบบมอเตอร์ออโตโฟกัสแบบ USD และระบบกันสั่น VC เข้าไปด้วย มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้พื้นที่ครับเลยต้องแลกกับทรวดทรงองค์เอวเพื่อให้ได้มา ซึ่งสมรรถนะนั่นเอง ครั้นจะใส่มอเตอร์แบบ PZD ซึ่งมีขนาดเล็กเหลือเชื่อของ TAMRON มันก็ไม่เหมาะนัก เพราะ USD ให้ประสิทธิภาพทางด้านความเร็วและความแม่นยำที่ดีกว่า

กลีบรูรับแสง 9 ใบ แน่นอนว่ามันให้โบเก้แบบกลมดิกในรูรับแสงกว้าง และแฉกถี่สวยงามในรูรับแสงแคบ ซึ่งรุ่นนี้สามารถบีบรูรับแสงแคบสุดได้ที่ F/22

• MTF

เมื่อดูจาก MTF Chart ของเลนส์ตัวนี้แล้วก็จะเห็นว่าประสิทธิภาพของมันน่าทึ่งอยู่ไม่น้อย ความคมชัดอยู่ในระดับสูงตั้งแต่กลางภาพ และมาหล่นลงเล็กน้อยบริเวณขอบภาพ แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยเฉพาะถ้าใช้กับกล้อง APS-C ก็จะได้คุณภาพระดับสูงตั้งแต่กลางภาพไปยันขอบภาพเลยทีเดียว

MTF

• สเปคอื่นๆ

– มุมรับภาพกว้างสุด 110 องศา (ที่ 15mm) สำหรับกล้อง Full Frame และ 85 องศาสำหรับ APS-C
– โฟกัสใกล้สุด 28 ซม. อัตราขยาย 1:5
– น้ำหนัก 1,100 กรัม
– สำหรับ Canon, Nikon และ Sony

• ภาคสนาม

ผมเองไม่ค่อยจะแปลกใจในเรื่องของประสิทธิภาพความคมชัดและสีสันในเลนส์ยุค ใหม่ของ TAMRON สักเท่าไหร่ครับ เชื่อแน่ว่าต้องทำออกมาได้ดีอยู่แล้ว เพราะเท่าที่ได้ลองเลนส์เกรดโปรไวแสงทั้งสามรุ่นมาก่อนหน้านี้ก็ดูน่าประทับ ใจสมกับที่เป็นระดับมืออาชีพของค่ายนี้จริงๆ และเลนส์เกือบโปรอย่าง 150-600mm (A011), 28-300mm (A010) และ 16-300mm (B016) อันเป็นเจเนอเรชั่นใหม่นั้นก็ทำผลงานได้ไม่เลว ก็เลยช่วยการันตีผลงานได้อย่างชัดเจน

ดังนั้นโจทย์ของผมจึงมุ่งไปที่ระยะอันส่งผลต่อองศาการรับภาพและคุณสมบัติ ต่างๆ ที่เลนส์มุมกว้างควรจะเป็น เช่น ความบิดเบี้ยว, ประกายแฉกจากรูรับแสง, ประสิทธิภาพของระบบกันสั่น VC, รวมทั้งจุดอ่อนของมันอย่างอาการสีเหลื่อม การบิดเพี้ยน ไปจนถึงฟิลลิ่งในการใช้งานในสภาพต่างๆ ก็เลยเลือกสถานที่ซึ่งไม่แคบไม่กว้างมากนักในสภาพแสงไม่เยอะเกินไปสำหรับการ ใช้งานในชีวิตจริง

8_PHOTO_1

จากการถ่ายภาพจริงก็แน่นอนครับว่าคุณภาพของภาพออกมาน่าพอใจมาก ผมใช้กล้อง Canon EOS 6D (ซึ่งเป็นกล้อง Full Frame) ร่วมกับเลนส์รุ่นนี้ก็เลยยิ่งได้ภาพที่มีคุณภาพกันเข้าไปใหญ่ กล้าที่จะดัน ISO ขึ้นไปสูงเพื่อบวกกับระบบ VC ได้อย่างมั่นใจเลยทีเดียว

คุณภาพของขอบภาพด้อยกว่ากลางภาพดังว่า แต่ก็เพียงเล็กน้อยจนแทบดูกันไม่ออก อาการบิดเบี้ยวโค้งงอ (Distortion) ของเส้นตรงต่างๆ ทั้งในแนวตั้งและแนวนอนมีน้อยมาก อาการสีเหลื่อมตามขอบ (CA) มีอยู่บ้างเล็กน้อย ไม่ถึงกับไม่มีเลย

9_PHOTO_2

และเมื่อยิงสวนแสงตรงๆ ก็แทบจะตะลึงเพราะไม่มีแฟลร์ปรากฏให้เห็น แต่ถ้ายิงเฉียงหน่อยๆ และเปิดรับแสงมากขึ้นก็จะปรากฏออกมาให้เห็นอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งก็ต้องถือว่า TAMRON เคลือบผิวเลนส์มาได้ค่อนข้างดีมากเลยทีเดียว

10_PHOTO_3

ระบบกันสั่น VC นั้นทำผลงานมาได้ยอดเยี่ยมอยู่แล้วในรุ่นก่อนหน้า ดังนั้นเมื่อมาอยู่กับเลนส์มุมกว้างซึ่งเกิดปัญหาเรื่องนี้ในระดับต่ำก็ยิ่ง ช่วยขึ้นได้มากไปอีก ต้องขอบอกว่ามันมีประโยชน์มากทีเดียวครับ อย่างเช่นในสถานการณ์ตัวอย่างนี้ที่วัดราชบพิธ ขณะที่พระสงฆ์กำลังปฏิบัติศาสนกิจอยู่นั้น ผมซึ่งปรากฏกายในฐานะนักท่องเที่ยวธรรมดาจึงไม่สามารถกางขาตั้งกล้องเพื่อ ใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำให้แสดงการเคลื่อนไหวในภาพได้ ซึ่งระบบกันสั่น VC ก็ช่วยตอบสนองโจทย์นี้ของผมได้โดยการกลั้นใจถือถ่ายภาพด้วยมือเปล่าโดยยืน พิงเสาเอาไว้ ซึ่งมันก็ออกมาน่าพอใจแทบจะทุกชอต

11_PHOTO_4

มุมกว้างถึง 15mm ก็ช่วยได้ในหลายสถานการณ์ และแน่นอนว่าสถานที่ซึ่งมีผู้คนพลุกพล่านอย่างในวิหารของวัดโพธิ์อันเป็น สถานที่ยอดนิยมในพื้นที่จำกัดขนาดนี้ การกางขาตั้งกล้องก็คงไม่แคล้วต้องโดนรุมประณามหยามเหยียดแน่นอน (เผลอๆ มีโดนแฉในโซเชียลอีกต่างหาก) ซึ่งผมก็สามารถใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำเพื่อบันทึกภาพโดยการจับถือกล้องด้วยมือ เปล่าได้ และบางโอกาสก็ยกกล้องขึ้นสูงสุดมือด้วยสปีดชัตเตอร์ต่ำด้วยเช่นกัน

12_PHOTO_5

…คุณคงจะสงสัยใช่ไหมล่ะครับว่า 15mm มันจะกว้างกว่า 16mm สักขนาดไหนกันเชียว?

13_PHOTO_6ภาพ นี้คือสุดระยะถอยหลังของวิหารในวัดโพธิ์ครับ หากใครเคยไปก็คงจะรู้ว่าตรงนี้มีพื้นที่ไม่มากมายนัก เมื่อถอยจนสุด (ประมาณสักเมตรเศษๆ) ระยะ 15mm ก็สามารถเก็บพระบาทได้ครบทุกส่วน และยังมีพื้นที่รอบข้างให้ภาพไม่ดูอึดอัดจนเกินไปด้วย

16_PHOTO_8

และก็ตามประสาครับ สมัยนี้เราเล่นภาพมุมกว้างแบบ “ชัดตื้น” กันจนเป็นเรื่องปกติ ใช่ว่าจะใช้แต่ชัดลึกเพียงอย่างเดียวนี่นะ ก็จัดชัดตื้นกันไปซะหน่อย แน่นอนครับว่ากลั้นใจใช้มือเปล่าเหมือนเดิม

17_PHOTO_9

และก็เรื่องสำคัญที่หลายท่านจับตารอดูอยู่ นั่นก็คือ “ประกายแฉก” เมื่อใช้กับรูรับแสงแคบว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร? ก็ต้องบอกว่าน่าประทับใจครับ ถึงแม้ว่ามันจะไม่แหลมปิ๊งเหมือนเลนส์รุ่นแพงๆ จากค่ายอื่น แต่ก็ไม่แตกบานปลายออกไป ยังคงลักษณะทรงแหลมเอาไว้ได้อย่างสวยงาม

CityScape_5

 

• ระดับความคมชัดกับรูรับแสง

เป็นเรื่องปกติครับที่ในแต่ละระดับรูรับแสงนั้นเลนส์จะให้ความคมชัดไม่ เท่ากันให้พอสังเกตได้ เรามาดูกันครับว่าเลนส์ตัวนี้ชัดสุดที่ F เท่าไหร่?

14_PHOTO_7

จะสังเกตได้ว่าระดับความคมชัดสูงสุดนั้นเริ่มว่ากันที่ F/2.8 เป็นต้นไปจนถึง F/5.6 และจะค่อยๆ ลดลง ดังนั้นจากการทดสอบของผมก็จะเห็นว่า “F/8″ อันเป็นที่นิยมนั้นไม่ใช่จุดที่คมที่สุดของเลนส์รุ่นนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นข้อดีในแง่ที่ใช้ F กว้างๆ ได้แสงเยอะๆ ภาพก็ยังคม แสดงว่าใช้ในสถานการณ์แสงน้อยได้ไม่เลวเลยครับ

• สรุป

ถือว่าเป็นเลนส์ดีอีกรุ่นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งครับ ประสิทธิภาพขนาดนี้พร้อมออพชั่นแบบจัดเต็มโดยที่ยังไม่มีใครจัดระบบกันสั่น มาให้ด้วย ก็ต้องถือว่ามันน่าสนใจมากเพราะช่วยเพิ่มโอกาสในการบันทึกภาพให้มากขึ้นอีก โดยเฉพาะบรรดามืออาชีพที่ต้องถ่ายภาพในสภาพแสงไม่มากนักอยู่เป็นประจำอย่าง พวกงานเลี้ยงงานพิธีต่างๆ หรือผู้ที่บันทึกวีดีโอด้วย DSLR ระบบกันสั่นก็จะช่วยได้เยอะเลยทีเดียว

สีสันความคมชัดรวมไปถึงคอนทราสต์ก็ทำได้น่าประทับใจ ถ่ายทอดรายละเอียดได้ดีมาก แต่ที่คุณควรจะต้องระวังสักหน่อยก็คือเรื่องของหน้าเลนส์ที่มีโอกาสสัมผัส กับสิ่งอื่นได้ง่ายโดยที่ไม่มีอะไรป้องกันมากไปกว่าฮูดในตัว ซึ่งก็ถือว่าดีที่มีการเคลือบผิวแบบฟูลออไรด์มาให้ด้วย ส่วนเรื่องฟิลเตอร์นั้นก็คงจะต้องรอไปอีกสักระยะ คาดว่าในอนาคตก็คงจะมีผู้ผลิตอะไรแนวๆ นี้ออกมาขายกันแน่ เพราะเท่าที่เห็นอยู่ ณ ขณะนี้อย่างน้อยก็มีเลนส์สามรุ่นแล้วที่มีลักษณะหน้าเลนส์โค้งแบบนี้ นั่นก็คือรุ่นนี้ของ TAMRON, 14-24mm ของ Nikon และล่าสุดกับ EF11-24mmL ของ Canon ซึ่งอีกไม่นานก็คงจะได้มีออกมาให้ซื้อหาไปใช้งานกันแน่นอน

และถ้ามันเล็กลงและเบากว่านี้ได้อีกสักหน่อยก็น่าจะดีครับ เพราะเรื่องประสิทธิภาพนั้นเป็นที่หายห่วงอยู่แล้วล่ะ ใช้งานได้ตั้งแต่แบบสบายๆ ไปจนถึงระดับมืออาชีพกันเลยทีเดียว หาสตางค์เข้ากระเป๋าได้อีกเยอะ

การจับถือนั้นออกจะใหญ่ไปสักนิดนึงสำหรับคนมือเล็กอย่างผม ถ้าเป็นรูปร่างขนาดฝรั่งหรือคนไทยตัวโตๆ ก็คงจะกระชับมือสบายๆ แต่ก็ไม่ถึงกับลำบากลำบนอะไรสำหรับตัวผมเอง เว้นเสียแต่มักจะวางนิ้วไปโดนผิวโค้งๆ ของเลนส์ชิ้นหน้าให้เปรอะเป็นริ้วลายนี่แหละครับ

MAIN
ถือว่าไม่เลวเลยเชียวครับสำหรับเลนส์รุ่นนี้ของ TAMRON ซึ่งก็ได้ข่าวว่าล็อตแรกที่นำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยนั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ของยังมาไม่ถึงแผ่นดินกันเลย เพราะหลายคนก็คงจะพอเดาได้ล่ะว่าประสิทธิภาพของ TAMRON ในยุคใหม่นี้เป็นอย่างไร ซึ่งก็ขึ้นชื่อในเรื่องความคุ้มค่าและราคาต่อหน่วยที่ช่วยให้ตัดสินใจไม่ ยากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผมแนะนำว่าให้คุณไปลองของจริงเสียก่อน นำกล้องของคุณไปด้วย เพราะข้อดีของผมอาจจะเป็นข้อด้อยของคุณ แต่ข้อดีของคุณอาจจะเป็นข้อด้อยของผมก็ได้ ลองด้วยตัวเองให้รู้แจ้งเห็นจริงกันก่อนครับ

A012 เปิดตัวมาที่ราคาแถวๆ 36,xxx บาท ซึ่งถือว่าเป็นเลนส์ F/2.8 ที่ราคาเร้าใจเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมเช็คราคากับตัวแทนใกล้บ้านกันดูให้แน่ใจอีกครั้งครับ

เลนส์ประสิทธิภาพแบบ F2.8 แต่ราคาแบบ F4 แบบนี้ก็ไม่น่าแปลกใจที่มันจะหมดไปทันทีโดยไม่ทันได้วางขายถึงหน้าร้านใน โอกาสแรกที่มาถึง ปรากฏการณ์นี้ TAMRON มีให้เห็นมาหลายครั้งแล้วครับ ช้าไปก็สงสัยว่าจะต้องรอกันนั่นแหละ

…คิดใหม่ได้แล้วครับ เลนส์ค่ายอิสระไม่ใช่เป็นตัวเลือกเพียงแค่ราคาถูกอีกต่อไปแล้วนะ.

ปิยะฉัตร แกหลง
มีนาคม 2558

Credit : บริษัท อีสต์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ตัวแทนจำหน่าย TAMRON อย่างเป็นทางการในประเทศไทย สำหรับเลนส์ทดสอบ

 

 

 

AMRON เจ้าแห่งผู้ผลิตเลนส์ซูม เลนส์ซูม แสงระดับ ระยะ 24-70mm ระยะมุมกว้างพิเศษสำหรับกล้องระดับ Full Frame  TAMRON กล้อง 15-30mm F2.8 

Related articles

[HOW TO] ย้ายเกม Steam จากไดรฟ์ C ไปไดรฟ์ D ง่าย ๆ ไม่เสียเวลาโหลดเกมใหม่ !!

ปัญหาหนึ่งหลายคนอาจจะเคยเจอ คือ ไดรฟ์ C ใกล้เต็มจากการลงเกม Steam แต่ไดรฟ์ D เหลือเยอะมาก...

เคลียร์ชัด! ความแตกต่างระหว่างที่ชาร์จแบตรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน VS. ข้างนอก

ในปัจจุบันเริ่มมีการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ทำให้เราต้องปรับตัวและทำความรู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ใครที่เลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกไอเทมที่จะขาดไปไม่ได้ก็คือ ‘ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ EV...

Igor’s Lab เผย การ์ดจอแพงแต่ซิลิโคนห่วย ทำให้เกิดความร้อนสูง เมื่อใช้งานนาน ๆ

เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ร้องเรียนบนเว็บไซต์ Reddit ถึงปัญหาการ์ดจอร้อนถึง 100 องศาเซลเซียส หลังจากใช้งานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง (ไม่ได้นานมาก เป็นหลักเดือน)...

ป้องกัน: Dell Precision 5690 โน้ตบุ๊กระดับ Workstation สเปกโหด สำหรับสายทำงานโดยเฉพาะ

ปัญหาที่พบได้บ่อย สำหรับการหาซื้อโน้ตบุ๊กมาใช้งานเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็น Adobe, AutoCAD หรือ Solidworks คือ “ความเข้ากันได้กับซอฟต์แวร์”...

เจาะลึก “AMD Ryzen 9000 Series” และเมนบอร์ด AM5 800 Series จากงาน AMD Tech Day

สัปดาห์ที่ผ่านมา แอดได้ไปงาน AMD Tech Day ซึ่งเขาได้เจาะลึกเทคโนโลยีของ AMD ทั้งซีพียู Ryzen,...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า