Review: Noctua NH-U12S TR4-SP3 พี่คนกลางที่จะมารับกับความแรง Threadripper

Review: Noctua NH-U12S TR4-SP3 พี่คนกลางที่จะมารับกับความแรง Threadripper

สวัสดีเพื่อนๆ ชาว Extreme PC ทุกคนนะครับ คราวที่แล้วผมได้ทำการรีวิวฮีตซิงค์ Noctua รุ่น NH-U9 TR4-SP3 ซึ่งเป็นน้องเล็กสุดใน U-series ที่ได้ออกแบบมาสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาใช้งานตัดต่อแต่ไม่อยากได้เครื่องใหญ่มากนักแต่…ถ้าใครกลัวว่าจะระบายความร้อนได้ไม่จุใจ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับพี่คนกลาง Noctua NH-U12S TR4-SP3 กันดีกว่า เพราะเจ้าตัวนี้จะมีครีบระบายความร้อนทที่เยอะกว่าใหญ่กว่าทำให้สามารถรองรับการระบายความร้อนได้ดีกว่ารุ่นพัดลม 9 ซ.ม. ถึงแม้ว่าจะมีพัดลมเพียงตัวเดียวก็ตามทีและยังได้เรื่องของเสียงรบกวนจากตัวพัดลมอีกด้วยครับ เพราะรอบพัดลมในการทำงานที่ต่ำกว่าพร้อมทั้งมีพัดลมเพียงแค่ตัวเดียวแน่นอนว่ามันต้องให้เสียงในการทำงานที่เงียบลง และเชื่อว่าเพื่อนๆหลายๆคนน่าจะอยากรู้ว่าถ้าผมติดพัดลมเพิ่มขึนเป็น 2 ตัวเหมือนรุ่นน้องนั้น จะเย็นเพิ่มขึ้นได้สักแค่ไหน เอาเป็นว่าเดียววันนี้เราไปดูกันเลยดีกว่าครับ

Introduction

สำหรับ Noctua NH-U12S TR4-SP3 จะเป็นฮีตซิงค์ที่ออกแบบมาเพื่อซีพียู AMD Ryzen Threadripper และ AMD Epyc เนื่องจากซีพียูทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีขนาดใหญ่กว่าซีพียูทั่วไป ทำให้ต้องใช้ฮีตซิงค์ที่มีหน้าสัมผัสกว้าง ซึ่ง Noctua NH-U12S TR4-SP3 ตัวนี้ มีหน้าสัมผัสซีพียูกว้างถึง 7 เซนติเมตร สามารถครอบคลุมผิวกระดองซีพียูได้ทั้งหมด จึงช่วยให้การระบายความร้อนทำได้ดียิ่งขึ้นครับ

 

ในแพคเกจของ Noctua NH-U12S TR4-SP3 จะมีพัดลม NF-F12 PWM premium fan มา 1 ตัว โดยพัดลมจะทำหน้าที่ดูดลมเย็นจากบริเวณหน้าเคส เข้ามายังแผงอะลูมิเนียม เพื่อไล่ความร้อนออกทางพัดลมหลังเคส ด้วยหน้าพัดลมที่กว้างถึง 120 มิลลิเมตร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนำลมเย็นเข้าระบายความร้อนได้เป็นอย่างดีครับ

 

ภายในกล่องอุปกรณ์เสริม จะประกอบด้วยไขควง สำหรับขันน็อตที่ฐานฮีตซิงค์, ซิลิโคนคุณภาพสูงจาก Noctua, สาย Low-noise adapter, คลิปหนีบพัดลมเสริม 2 เส้น, แผ่นป้องกันการสั่นสะเทือน และสุดท้าย แผ่นโลโก้น่ารักๆ ของ Noctua นั่นเองครับ

**สำหรับพัดลมเสริม สามารถซื้อมาติดตั้งเพิ่มเติมได้ในภายหลังนะครับ โดยเลือกพัดลมรุ่นใดก็ได้ในซีรี่ส์ NF-F12 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถของฮีตซิงค์ ให้ทำงานระบายความร้อนแบบ Push/Pull โดยพัดลมตัวที่ 2 จะช่วยเป่าลมร้อนออกจากแผงอะลูมิเนียม ให้ออกทางด้านหลังเคสได้เร็วขึ้น**

 

ถัดมาเรามาดูที่ตัวฮีตซิงค์กันบ้าง Noctua NH-U12S TR4-SP3 รูปทรงของมันไม่ได้แต่ต่างจากรุ่น U9 มากนัก เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายความร้อนให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

พัดลม NF-F12 PWM premium fan สามารถถอดแกะได้ โดยการถอนคลิปออกจากแผงอะลูมิเนียม เพื่อให้ง่ายต่อการประกอบฮีตซิงค์ลงบนเมนบอร์ด จะเห็นได้ว่าพัดลม 1 ตัว จะใช้กำลังไฟสูงสุดเพียง 0.6W และต้องการกระแสไฟนำเข้าสูงสุด 0.05A เพราะฉะนั้นประหยัดไฟหายห่วง

 

ถัดมาเป็นส่วนสายเชื่อมต่อพลังงานของพัดลม กับแผงเมนบอร์ด ซึ่งเป็นสายที่มีหัวต่อแบบ 4-pin ตามมาตรฐานของเมนบอร์ดทั่วไป และแน่นอนว่ารองรับการใช้งานร่วมกับบอร์ด TR4 ทุกรุ่นเลยครับ

 

ในตอนติดตั้ง เพื่อนๆ อาจจะแกะพัดลมออกก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการวางลงบนตัวซีพียู เมื่อแกะพัดลมออก เราจะพบกับแผงอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นโลหะที่ระบายความร้อนไปยังพัดลมได้อย่างรวดเร็ว (การทำแผงอะลูมิเนียมเป็นซี่ๆ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการระบายความร้อนครับ ความร้อนจะออกได้เร็วขึ้น)

 

ถ้าใครสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีสายโลหะจำนวน 6 เส้น ซ้อนจากใต้แผ่นหน้าสัมผัสซีพียู แทรกขึ้นไปยังแผงอะลูมิเนียม ซึ่งตรงนี้จะเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติในการเป็นตัวนำความร้อนได้ดี จึงทำให้ความร้อนจากซีพียูถูกลำเลียงขึ้นไปยังแผงอะลูมิเนียมได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับความสามารถในการระบายความร้อนที่รวดเร็วของอะลูมิเนียม จะช่วยให้ไม่เกิดความร้อนสะสมทั้งในฮีตซิงค์ และที่ตัวซีพียูครับ

 

นอกจากนี้ยังมีช่องว่างในพื้นที่ระหว่างแผงอะลูมิเนียม กับแผ่นสัมผัสซีพียู ช่วยให้การไหลเวียนของลมภายในเคสเป็นไปได้อย่างราบลื่น เป็นวิธีลดความร้อนได้อีกอย่างหนึ่งครับ

 

ที่บริเวณฐานของฮีตซิงค์ ยังโครงที่ช่วยค้ำส่วนระบายความร้อนให้ยกสูงขึ้น เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้อยู่ชิดกับ PCIe ทำให้การเสียบการ์ดจอ หรือต่อ SLI/multi-GPU สะดวกมากยิ่งขึ้น

ต่อมาเป็นส่วนสำคัญของเรา นั่นคือหน้าสัมผัสซีพียูของ Noctua NH-U12S TR4-SP3 ที่มีขนาดใหญ่ สามารถครอบบนกระดองซีพียูได้อย่างแนบสนิท เกลี่ยเนื้อซิลิโคนได้ทั่วทั้งแผ่น ซึ่งรองรับทั้ง Threadripper และ Epyc ครับ เมื่อแกะฮีตซิงค์ออกมา จะเห็นว่าซิลิโคนสามารถอาบได้ทั่วหน้าสัมผัส ซึ่งบ่งบอกว่าฮีตซิงค์ของเราสามารถระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน

บรรยากาศในการทดลองใช้งาน Noctua NH-U12S TR4-SP3

มีใครสังเกตเห็นอะไรในภาพบนและล่างนี้บ้างไหนเอ่ย? ใช่แล้วครับ! การทดสอบประสิทธิภาพในครั้งนี้ จะมีทั้งการใช้พัดลมแบบ Single-fan ตามแพคเกจของ Noctua ที่ให้มา และผลการทดสอบเมื่อใส่พัดลมตัวที่ 2 เข้าไปด้วย เดี๋ยวเรามาดูกันนะครับว่าประสิทธิภาพจะต่างกันแค่ไหน

 

ในส่วนของการทดลองประสิทธิภาพในการระบายความร้อนนะครับ ผมได้ทำการทดสอบในห้องอุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส สำหรับสเปคของเครื่องที่ใช้ในการทดสอบ หลักๆ คือซีพียู AMD Ryzen Threadripper 1920x และเจ้าฮีตซิงค์ Noctua NH-U12S TR4-SP3

CPU
AMD Threadripper 1920x
CPU Cooler
Noctua NH-U12S TR4-SP3
Thermal Compound
CoolerMaster Master GEL MAKER NANO
Mainboard
ASRock X399 Taichi
Memory
G.Skill Trident Z RGB 3600 MHz 32 GB CL16
VGA Card
ASUS ROG Strix Vega 64
SSD
Plextor m8pe 256GB
SSD
WD Blue 1 TB
HDD
WD Gold 8 TB
Power Supply
Cooler Master 1200w mij
Chassis
DimasTech Easy XL
OS
Windows 10 pro

 

 

ผลการทดสอบ Noctua NH-U12S TR4-SP3 แบบ Single-fan

ก่อนการโอเวอร์คล็อก ซีพียู AMD Ryzen Threadripper ความเร็ว 3.7 GHz ทำ Stress test ด้วยโปรแกรม AIDA64 เมื่อตรวจสอบอุณหภูมิด้วยโปรแกรม CPUID HWMonitor พบว่ามีอุณหภูมิสูงสุดที่ 65 องศาเซลเซียส

 

หลังการโอเวอร์คล็อก ซีพียู AMD Ryzen Threadripper ความเร็ว 4.0 GHz (3997 MHz) ทำ Stress test ด้วยโปรแกรม AIDA64 เมื่อตรวจสอบอุณหภูมิด้วยโปรแกรม CPUID HWMonitor พบว่ามีอุณหภูมิสูงสุดที่ 68 องศาเซลเซียส

จะเห็นได้ว่า ในแพคเกจแบบ Single-fan หลังการโอเวอร์คล็อกแล้ว ซีพียูมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 3 องศาเซลเซียสเท่านั้น (68 องศาเซลเซียส) หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ซึ่งถือว่าเพียงแค่ใช้แพคเกจแบบ Single-fan หรือพัดลมเพียงตัวเดียว ก็สามารถระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี แถมอุณหภูมิทั้งก่อนและหลัง ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอีกด้วยครับ

 

ผลการทดสอบ Noctua NH-U12S TR4-SP3 แบบ Dual-fan (เพิ่มพัดลม NF-F12 industrialPPC-3000 PWM 3000 รอบ)

ถัดมาเรามาดูกันว่า เมื่อเพิ่มพัดลมตัวที่ 2 เพื่อให้ฮีตซิงค์สามารถระบายความร้อนได้แบบ Push/Pull แล้ว ประสิทธิภาพจะดีขึ้นแค่ไหน สำหรับในการทดลองนี้ ได้มีการเลือกพัดรุ่น NF-F12 industrialPPC-3000 PWM สามารถใส่ร่วมกับฮีตซิงค์รุ่นนี้ได้ครับ เอาล่ะ เรามาดูผลการทดสอบกันเลยดีกว่า

ก่อนการโอเวอร์คล็อก ซีพียู AMD Ryzen Threadripper ความเร็ว 3.7 GHz ทำ Stress test ด้วยโปรแกรม AIDA64 เมื่อตรวจสอบอุณหภูมิด้วยโปรแกรม CPUID HWMonitor พบว่ามีอุณหภูมิสูงสุดที่ 57 องศาเซลเซียส

 

หลังการโอเวอร์คล็อก ซีพียู AMD Ryzen Threadripper ความเร็ว 4.0 GHz (3999 MHz) ทำ Stress test ด้วยโปรแกรม AIDA64 เมื่อตรวจสอบอุณหภูมิด้วยโปรแกรม CPUID HWMonitor พบว่ามีอุณหภูมิสูงสุดที่ 70 องศาเซลเซียส

จากการทดสอบในแพคเกจแบบ Dual-fan (เพิ่มพัดลมตัวที่ 2) จะเห็นได้ว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมา 13 องศาเซลเซียส หรือประมาณร้อยละ 22 ซึ่งถือว่าอุณหภูมิยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะถ้าเพื่อนๆ สังเกตดีๆ จะเห็นว่าความเร็วในหน่วย MHz ของซีพียูตอนโอเวอร์คล็อก ในแพคเกจ Single-fan จะน้อยกว่า Dual-fan อยู่เล็กน้อยครับ ทางด้าน Dual-fan จึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาบ้าง

 

ความรู้สึกหลังการใช้งาน

จากการใช้งานที่ผ่านมานะครับ Noctua NH-U12S TR4-SP3 มีประสิทธิภาพในการระบายความร้อนได้ดี เนื่องจากมีหน้าสัมผัสซีพียูที่กว้าง พร้อมด้วยแผงอะลูมิเนียม และพัดลมที่มีขนาด 120 มิลลิเมตร อีกทั้งทางผู้ผลิตยังได้แถมสาย Low-noise adapter มาให้ด้วย ช่วยให้พัดลมทำงานได้อย่างเงียบเชียบ ไม่เกิดเสียงรบกวนในระหว่างเล่นคอมพิวเตอร์ครับ

 

เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังมองหาฮีตซิงค์สำหรับซีพียู AMD Ryzen Threadripper และต้องการฮีตซิงค์ที่หน้าสัมผัสกว้าง พร้อมพัดลมขนาดใหญ่จุใจ ไม่ว่าจะโอเวอร์คล็อกซีพียู หรือนำไปขุดเหมือง ก็ระบายความร้อนได้สบายหายห่วง ขอแนะนำเจ้า Noctua NH-U12S TR4-SP3 แล้วคุณจะไม่ผิดหวัง และพิเศษ Noctua ยังรับประกันสินค้าเต็มถึง 6 ปีเลยทีเดียว !!

Related articles

ป้องกัน: ดูหนัง Netflix Exclusive โซนอื่นแบบไม่มีสะดุด ด้วย BullVPN – ผู้ให้บริการ VPN อันดับ 1 ในไทย

เชื่อว่าสายเกมเมอร์หรือสายสตรีมมิ่งน่าจะเคยใช้ VPN กันมาบ้างแล้วล่ะ สำหรับแอดมองว่ามันเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มาก ทั้งในด้านความสะดวกในการท่องอินเทอร์เน็ต รวมถึงด้านความปลอดภัย และวันนี้แอดไม่ได้มาตัวเปล่านะ เพราะแอดมี BullVPN...

Zhaoxin KX-7000 ซีพียูจีน เผยผลทดสอบ Single-Core สูสี Intel Skylake แต่ Multi-thread แรงกว่า !

หลายคนที่ติดตามข่าวสารเรื่องคอมน่าจะได้ยินเรื่องราวของซีพียู Zhaoxin ซีพียูจากประเทศจีนที่ทำออกมาใช้ภายในประเทศ ล่าสุดมีผลทดสอบออกมาแล้วสำหรับ Zhaoxin KX-7000 Series ครับ Zhaoxin เป็นซีพียูที่จีนพัฒนาขึ้น...

ป้องกันไฟล์จาก Ransomware ฟรี ! ด้วย Windows Defender

Ransomware หรือไวรัสขโมยไฟล์เรียกค่าไถ่ อาจเคยทำให้ใครหลาย ๆ คนปวดหัวไม่น้อย วันนี้แอดเลยขอนำเสนอวิธีการป้องกันไวรัสขโมยไฟล์เบื้องต้น โดยใช้ฟีเจอร์ใน Windows Defender...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า